เด็กจบใหม่สายสังคมศาสตร์น่าห่วง ปี 60 เสี่ยงตกงานสูง

สังคม
20 ธ.ค. 59
10:45
16,830
Logo Thai PBS
เด็กจบใหม่สายสังคมศาสตร์น่าห่วง ปี 60 เสี่ยงตกงานสูง
สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยห่วงเด็กจบใหม่ โดยเฉพาะผู้จบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ที่มีโอกาสตกงานมากสูงสุดในปี 2560 เนื่องจากปริมาณแรงงานในสายนี้ล้นตลาด

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละกว่า 3 แสนคน เกินกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นนักศึกษาที่จบสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ มีการเปิดเผยข้อมูลจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยที่ระบุว่า ผู้ที่จบการศึกษาในสายนี้มีความเสี่ยงตกงานเพิ่มขึ้น จากปริมาณแรงงานที่ล้นตลาด

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มการจ้างงานในปี 2560 ว่า ภาพรวมการจ้างงานของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เนื่องจากอัตราว่างงานของไทยยังคงอยู่ระดับต่ำ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ นักศึกษาจบใหม่ที่จะมีเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นเดือนมีนาคมกว่า 2 แสนคน ส่วนหนึ่งอาจประสบภาวะตกงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์

ดังนั้นหากภาครัฐกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อขับเคลื่อนประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องกำหนดแผนพัฒนาแรงงานเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการแรงงานสายอาชีพ เช่น ช่างกล ช่างฝีมือ เป็นต้น พร้อมกับแนะนำว่าสังคมไทยควรให้คุณค่าของการศึกษาภาคอาชีวะมากขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองและเยาวชนกล้าตัดสินใจเข้าเรียนสายอาชีพ

"เราขาดช่าง พอเด็กเข้าไปเรียนแล้วก็ไม่มีระบบที่จะไปรองรับวิทยฐานะของเขาเหมือนในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี หรือประเทศยุโรปอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้ว การจบช่างกับจบปริญญาตรีไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน เราจะต้องไม่เอาเปรียบเขา เขาต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าคนจบปริญญาตรี" นายธนิตให้ความเห็น

นายธนิตยังแนะนำสำหรับนักศึกษา ที่กำลังจะจบใหม่ในปีการศึกษาหน้า ให้หาความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะภาษาที่สองและทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนข้อกังวลเรื่องการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน มองว่า ภาคอุตสาหกรรมไทย อาจต้องใช้เวลาอีกระยะ จะไม่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด

"เราคงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบเหมือนที่หลายๆ คนฝันไว้ ถึงอย่างไรก็ต้องมีการใช้แรงงาน แต่แน่นอนว่าแรงงานก็จะลดลงในอนาคต เพราะคนมีอายุมากขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่การใช้แรงงานจะไม่ได้น้อยลงอย่างฮวบฮาบ" นายธนิตระบุ

ขณะนี้สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยกำลังหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อวางแนวทางพัฒนาแรงงานให้สอดรับตลาดโลก และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะต้องเน้นให้การศึกษามุ่งไปสู่ไอที คอมพิวเตอร์ ภาษา ช่างกล โดยอาชีพที่เริ่มมีความเสี่ยง คือ สื่อสารมวลชนและการธนาคาร

แม้ว่าตัวเลขการว่างงานของไทยขณะนี้จะยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 0.87 แต่การผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพูดถึงการเข้าสู่ยุค 4.0 ตามแผนของรัฐบาล ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น การผลิตบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ก็อาจเป็นตัวบั่นทอนการพัฒนาได้

สถิติตัวเลขผู้ว่างงานข้อมูลล่าสุดในเดือนตุลาคม 2559 พบว่ามีผู้มีงานทำกว่า 37 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.87

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิต มีความต้องการสูงสุดกว่า 14,000 อัตรา รองลงมาคือการขายขายส่ง ขายปลีก ซ่อมรถยนต์และจักรยานยนต์ ประมาณ 6,300 อัตรา และจากการสอบถามความต้องการของนายจ้างพบว่า นายจ้างต้องการผู้ที่จบระดับชั้นมัธยมศึกษาและปวช.-ปวส. ถึง 20,000 อัตรา และนอกจากแรงงานด้านการผลิตแล้ว ยังมีความต้องการแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ถือว่ามีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ศ.สุชัชวีย์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยในเดือนมกราคม 2560 ระบุว่า ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการในประเทศที่สะท้อนว่า ยังต้องการเด็กจบใหม่ด้านวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศยุค 4.0 ของรัฐบาล พร้อมกับยอมรับว่า มหาวิทยาลัยอาจผลิตนักศึกษาสายนี้ได้ไม่เพียงพอ จึงมีแนวทางที่จะเข้าไปช่วยส่งเสริมในภาคอาชีวะศึกษาให้มีศักยภาพในการผลิตบุคลากรมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการอาจต้องการแรงงานสายอาชีพเพิ่มขึ้นแต่ข้อมูลจากพบว่าอัตราส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญยังอยู่ที่ประมาณ 40 ต่อ 60 ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป้าที่จะเพิ่มอัตราส่วนให้ได้ 50 ต่อ 50

ข่าวที่เกี่ยวข้อง