แนะกระบวนการยุติธรรม ใช้มูลเหตุพิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัว

สังคม
22 ธ.ค. 59
13:30
471
Logo Thai PBS
แนะกระบวนการยุติธรรม ใช้มูลเหตุพิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัว
หลังศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิต พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ (หมอนิ่ม) ในคดีจ้างวานฆ่าสามี ก็มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นถึงการพิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัว ว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้นำเหตุปัจจัยและจุดเริ่มต้นของปัญหา เข้าสู่กระบวนการพิจารณา

วันนี้ (22 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแสดงความเห็นถึงการพิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัวว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ได้พิจารณาจากบริบทความสัมพันธ์แบบสามี-ภรรยา หรือความสัมพันธ์ระหว่างเพศชาย-หญิง ซึ่งกรณีการทำร้ายกันเองของคนในครอบครัว อาจไม่ได้มีเพียงความรุนแรงตามที่บุคคลภายนอกเข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนถึงความล้มเหลวในกระบวนการเยียวยาความรุนแรงในครอบครัวของกลไกทางสังคมและกลไกยุติธรรมด้วย

ขณะที่ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน โดยเห็นว่า ปัญหาภายในครอบครัวที่ทำให้ผู้หญิงต้องสะสม หรืออดทนต่อคู่สมรสที่ใช้ความรุนแรง จนวันหนึ่งต้องตอบโต้กลับ แต่กระบวนการยุติธรรมมักไม่นำเอามูลเหตุจูงใจก่อนหน้านั้นมาร่วมพิจารณา

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ รศ.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ ที่เคยศึกษาคำให้การของผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย ในโครงการ "ชีวิตที่ถูกลืม เรื่องเล่าผู้หญิงในเรือนจำ" พบว่า ความเครียดสะสมที่ผู้หญิงถูกทำร้าย ถูกขู่เอาชีวิตตัวเองและลูก รวมถึงความรุนแรงที่ก้าวล่วงจนถึงบุพการี เป็นปัจจัยหลัก ที่มีผลให้ภรรยาตัดสินใจทำร้ายสามี แต่กระบวนการยุติธรรมไทยยังใช้วิธีการพิจารณาคดี ที่มองเป็นเพียงคดีอาชญากรรมเรื่องของคนสองคน โดยขาดการพิจารณาจากสาเหตุความรุนแรงที่เกิดจากความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

“โดยส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ผู้หญิงทำแบบนี้แล้วไม่มีความผิดเลย ความผิดน่ะมี เพราะคุณตั้งใจ ทำไมคุณไม่ใช่วิธีอื่น แต่เมื่อความผิดมี ก็ไม่ใช่ความผิดเดียวกับฆ่าแบบ ฆ่าเพราะเราเจตนาฆ่า ฆ่าเพราะว่าคนสองคนที่ไม่รู้จักกันแล้วมาฆ่ากัน มันไม่เหมือนกันนะ 2 กรณีนี้ แต่ขณะนี้ศาลไทยใช้แบบเดียวกัน” รศ.นภาภรณ์ กล่าว

หลายฝ่ายจึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ควรบังคับใช้กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังยกร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ... ในมาตรา 40 ที่หากผู้กระทำความผิดมีลักษณะเกิดจากความรุนแรงในครอบครัว ที่ถูกกระทำซ้ำเป็นเวลานาน กระทบกระเทือนจิตใจ ศาลมีอำนาจพิพากษาคดีลงโทษผู้กระทำนั้น น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ฝึกอบรมบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง