เยือนวัดพระธาตุพนมฯ "วัดบันดาลใจ" ณ ริมฝั่งโขง

สังคม
23 ธ.ค. 59
10:00
929
Logo Thai PBS
เยือนวัดพระธาตุพนมฯ "วัดบันดาลใจ" ณ ริมฝั่งโขง
"โครงการวัดบันดาลใจ" ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้วัดให้กลับไปเป็นพื้นที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและศูนย์กลางกิจกรรมทางธรรมของชุมชนอีกครั้ง วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม เป็น 1 ใน 9 วัดแรกที่ร่วมโครงการนี้

รายการเวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส เดินทางไปเยือนวัดพระธาตุพนมเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 เพื่อติดตามความเป็นไปหลังจากกว่า 1 ปีที่ภาคีเครือข่ายได้ร่วมมือกันทำให้ศาสนสถานแห่งนี้เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจของผู้คน

โครงการวัดบันดาลใจมุ่งเน้นการปรับปรุงพื้นที่วัดให้มีสภาพที่เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรม และจัดกิจกรรมเพื่อชักชวนพุทธศาสนิกชนให้เข้าวัดเพื่อการปฏิบัติภาวนามากขึ้น จากที่เคยเข้าวัดเพื่อการประกอบพิธีทางศาสนาเป็นครั้งคราวเท่านั้น เริ่มต้นมีวัดเข้าร่วมโครงการเพียง 9 วัด ขณะนี้เพิ่มเป็น 36 วัดแล้ว

วันที่ 10-11 ธ.ค.2559 ทีมงานรายการเวทีสาธารณะเดินทางไปวัดพระธาตุพนมฯ ซึ่งกำลังมีงาน "ปฏิบัติบูชาพระธาตุพนม ประจำปี 2559" รวมทั้งสนทนาธรรมกับพระเทพวรมุนี (สำลี ปุญญวาโร) เจ้าคณะจังหวัดนครพนมและเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ และพูดคุยกับ นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ และอาจารย์ประยงค์ โพธิศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจและประธานสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์

การปฏิบัติบูชาหรือธรรมบูชา คือการบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติที่จะช่วยจรรโลงสังคม เพราะเป็นการสร้างสำนึกในศีลธรรมอันดี ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามพระสัทธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยงานปฏิบัติบูชานี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการวัดบันดาลใจ

การแสดงธรรมเทศนาจากคณะสงฆ์จังหวัดต่างๆ ทั่วภาคอีสานตลอดคืนวันที่ 10 ธ.ค.ไปจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 11 ธ.ค.มีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายต่อการนำไปปฏิบัติและวัตรปฏิบัติที่เรียบง่ายของพระสงฆ์ที่มาแสดงธรรม จะทำให้ประชาชนนับหมื่นคนจากทั่วสารทิศได้เข้าถึงพระธรรมคำสอนได้มากขึ้น

นอกจากการฟังธรรมจากพระสงฆ์แล้ว การเดินชม "10 รอยธรรมบันดาลใจ" ภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นอีกกิจกรรมที่ต้องการนำจุดเด่นด้านสถาปัตยกรรมมาอธิบายสอดแทรกหลักธรรม โดยการทดลองติดตั้งป้ายชั่วคราวเขียนคำอธิบายปริศนาธรรมที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ 10 จุดของพระธาตุพนม เพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมงานปฏิบัติบูชาได้เรียนรู้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านปริศนาธรรมที่ปรากฏอยู่ เช่น การติดตั้งป้ายคำอธิบาย ซุ้มประตู "ธรรมะย่อมชนะอธรรม" ซึ่งเป็นซุ้มประตูสำคัญของวัดที่ต่อเนื่องมาจากซุ้มประตูริมแม่น้ำโขงและซุ้มประตูโขงเรืองอร่ามรัษฎากร มีประติมากรรมโทณพราหมณ์ขณะแบ่งพระบรมสารีริกธาตุท่ามกลางเทวดาเฝ้าดู และปูนปั้นนูนต่ำภาพหลักธรรมสำคัญที่ทับหลักบานประตูว่า "ธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ" เป็นหลักการประจำองค์พระธาตุสำหรับผู้มานมัสการ

ในขณะที่ในระยะยาว จะมีการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบองค์พระธาตุพนมให้เหมาะสมกับการปฏิบัติภาวนา เช่น การปรับปรุงพื้นที่ตั้งร้านค้าเดิมให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปนั่งสมาธิวิปัสสนา เดินจงกรม หรือเป็นพื้นที่เพื่อการสนทนาธรรม

ด้วยความที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และยังเป็นวัดใหญ่ ที่ตั้งของมหาจอมเจดีย์ประจำภาคอีสาน กิจกรรมและการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นจึงต้องมีการปรึกษาหารือและได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย

"เราใช้หลักหันหน้าเข้าหากัน ทั้งพระสงฆ์ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน มานั่งคุยกัน หันหน้าเข้าหากัน" เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ กล่าว

นพ.บัญชา พงษ์พานิช หนึ่งในองค์กรภาคีเครือข่ายที่ร่วมจัดตั้งโครงการวัดบันดาลใจ กล่าวเสริมว่า ในการเลือกวัดพระธาตุพนมฯ เข้าร่วมในโครงการนี้ นอกจากความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์พุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางใจของคนอีสาน ในแต่ละปีจะมีขบวนเดินธุดงค์มายังวัดพระธาตุพนมฯ ตลอด หากทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็น "วัดบันดาลใจ" ได้ ก็จะเป็นประโยชน์และขยายต่อเนื่องไปยังวัดอื่นๆ ได้

"เมื่อภาคีเครือข่ายได้เข้ามาพบเจ้าอาวาส ท่านก็ต้อนรับอย่างเต็มที่ ที่ประทับใจที่สุดคือ ท่านเรียกตัวเองว่าเป็นภารโรง ไม่ใช่เจ้าอาวาสตามพัดยศที่แต่งตั้ง" นพ.บัญชาระบุ

"ตอนแรกก็ไม่แน่ใจ เพราะว่าวัดใหญ่ เจ้าคุณเทพ แล้วก็เป็นมหาอาราม เป็นพระอารามหลวง มีพระธาตุอย่างนี้ ท่านก็จะมีภารกิจและพันธกิจหรือเงื่อนไขในการที่จะบริหารจัดการ แต่ผมเข้ามากราบบอกว่า มีคณะสงฆ์ที่เข้ามาที่นี่อยู่เนืองๆ แล้วพวกเราที่สวนโมกข์เห็นว่า พื้นที่ของการปฏิบัติภาวนา ส่วนใหญ่เราจะเห็นเป็นวัดป่า แต่วัดเมืองหรือวัดแบบมีพระธาตุอย่างนี้ไม่ค่อยเห็น นอกจากเห็นการสวดมนต์ข้ามปี แต่แบบมานั่งภาวนากันอย่างจริงจังไม่เห็น ผมก็มากราบหลวงพ่อ หลวงพ่อก็บอกว่า อย่างนี้แหล่ะอยากให้เกิดขึ้น แต่ไม่ค่อยมีใครทำ ถ้าหากว่ามาช่วยก็ให้ทำเต็มที่ และจะเอาด้วย"

 

หลังจากที่หลวงพ่ออนุญาต ทางภาคีเครือข่ายก็ดำเนินการทันที โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ด้านหลักสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะกับการปฏิบัติธรรม ดำเนินการโดยเครือข่ายองค์กรวิชาชีพสถาปนิก เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ รับผิดชอบการออกแบบผังแม่บทปรับปรุงพื้นที่ในวัด และการทำพื้นที่ 10 รอยธรรมในขณะที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ รับผิดชอบการจัดกิจกรรมปฏิบัติภาวนา และการประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์งาน

ในส่วนของงานการปรับปรุงสถานที่ ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจและประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า การออกแบบอยู่บนฐานคิดที่ต้องการให้เป็นพื้นที่รองรับจิตวิญญาณของผู้คนได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ ทำให้กายภาพที่มีอยู่สามารถส่งเสริมกิจกรรมได้ชัดเจนขึ้น

"ความเป็นศูนย์กลางของชุมชนหรือของภูมิภาค วัดนี้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่สภาพแวดล้อมบางอย่างยังไม่เอื้อ เพราะวัดมีพื้นที่ใหญ่มาก แต่ล้วนเป็นพื้นที่ๆ สวยงาม มีต้นไม้อยู่ครบ แต่ต้องมีการจัดการและปรับภูมิทัศน์บางส่วน เช่น ที่จอดรถบัสและร้านค้า" นายประยงค์ให้ความเห็น

"จากที่ทำงานมาพบว่า คนยังอยากจะส่งเสริมพุทธศาสนาอยู่ โดยเฉพาะวิชาชีพแปลกๆ ที่เราคิดว่าเขาลืมศาสนาไปแล้ว เขามีใจอยากจะทำมาก และพอเข้ามาสัมผัส พอเข้าใกล้วัดจะได้เห็นพระดี จะเกิดศรัทธาและมันทำให้กำลังทีมเข้มแข็งขึ้น ผมคิดว่ามีความหวังมาก"

ปัจจุบันแม้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการปรับปรุงพื้นที่ แต่การดำเนินโครงการวัดบันดาลใจในพื้นที่วัดพระธาตุพนมฯ มีความคืบหน้าไปมาก ทั้งเรื่องการประสานงานความร่วมมือระหว่างวัดกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่การจัดกิจกรรมปฏิบัติภาวนาจะถูกจัดเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นประจำและจะถูกยกระดับให้เป็นกิจกรรมสำคัญของจังหวัดนครพนม และในอนาคตโครงการวัดบันดาลใจอาจจะถูกขยายต่อเนื่องไปยังวัดทั่วประเทศในเวลาไม่นาน

ติดตามเรื่องราวของวัดพระธาตุพนมฯ วัดบันดาลใจ ได้ในรายการเวทีสาธารณะ ตอน "พระธาตุพนม รอยธรรมบันดาลใจ" ออกอากาศวันศุกร์ที่ 23 ธ.ค.2559 หลังข่าวเที่ยง ไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง