"พื้นที่ปลอดภัย" ใกล้ความจริง ฝ่ายไทย-มาราปาตานีเห็นชอบกรอบแนวคิด

ภูมิภาค
23 ธ.ค. 59
08:41
916
Logo Thai PBS
"พื้นที่ปลอดภัย" ใกล้ความจริง ฝ่ายไทย-มาราปาตานีเห็นชอบกรอบแนวคิด
การเตรียมการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคืบหน้า ตัวแทนรัฐบาลไทยและฝ่ายผู้เห็นต่างตกลงเห็นชอบหลักการกรอบแนวคิด และคาดว่าจะสามารถกำหนดพื้นที่ปลอดภัยได้ในเร็วๆ นี้

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐไทย ซึ่งเรียกกลุ่มตนเองว่า "มาราปาตานี" ตั้งแต่ต้นปี 2558 

ล่าสุดคณะทำงานด้านเทคนิคร่วมได้มีการประชุมในช่วงระหว่างวันที่ 19-21 ธ.ค.2559 ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ซึ่งแหล่งข่าวระดับสูงในที่ประชุมได้บอกกับไทยพีบีเอสว่า ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดทำร่างกรอบแนวความคิด ความร่วมมือในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ทั้งคำจำกัดความ คำนิยามกลไกการดำเนินงาน และระยะเวลาในการดำเนินการ โดยกลไกดังกล่าวจะให้ความสำคัญต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ให้มากที่สุด

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบนิยาม "พื้นที่ปลอดภัย" ว่าหมายถึง พื้นที่ปลอดเหตุรุนแรง รวมถึงการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมกัน โดยกลไกคณะทำงานเทคนิคร่วมและตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวก ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารพื้นที่ปลอดภัย โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ชัดเจนว่าจะเป็นพื้นที่ใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แหล่งข่าวบอกว่า ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ยืนยันว่าจะดูแลความปลอดภัยให้ตัวแทนพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่าง (มาราปาตานี) รวมทั้งสมาชิกและแนวร่วมกลุ่มผู้เห็นต่างที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีที่รัฐบาลไทยยืนยันมาโดยตลอด แต่ตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทยก็ยังคงกังวลเรื่องความปลอดภัย และแสดงความประสงค์ต้องการให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการทางกฏหมายยกเว้นการดำเนินคดี (Immunity) กับตัวแทนคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่าง

"อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายมีความมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าจะสามารถจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ และจะร่วมมือกันขจัดปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย คือการที่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข ไม่มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และมีความสบายใจที่จะบอกกล่าวถึงความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง และชุมชน มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ ทีมแกนนำของกลุ่มมูจาฮีดีนปัตตานี (Gerakan Mujahidin Islam Patani หรือ GMIP) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐภายใต้องค์กรร่ม "มาราปาตานี" ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส แสดงจุดยืนสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขและใช้แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผย และปรับเป้าหมายการต่อสู้ให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาคที่เปลี่ยนไป คือ ไม่ได้ดำรงเป้าหมายการต่อสู้เพื่อเอกราชเช่นในอดีต แต่พร้อมที่จะเจรจาตามแนวทางสันติวิธีเพื่อเป้าหมาย "เขตปกครองตนเอง" หรือ "เขตปกครองพิเศษ" (autonomy)

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้ประสานงานกระบวนการพูดคุย โดยดาโต๊ะอาหมัด ซัมซามีน ฮัสชิม มีความพยายามประสานให้มีตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยมากขึ้น โดยเฉพาะปีกที่ยังยึดแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธ เช่นนายดูนเลาะห์ แวมะนอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง