"Battered Wife Syndrome" ภาวะผู้หญิงถูกกดดันจนต้องฆ่า

สังคม
23 ธ.ค. 59
20:32
10,905
Logo Thai PBS
"Battered Wife Syndrome" ภาวะผู้หญิงถูกกดดันจนต้องฆ่า
นักวิชาการ-นักกฎหมาย เสนอเพิ่มมาตรา 72 พิจารณาคดีความรุนแรงในครอบครัว ให้ครอบคลุมถึงพฤติการที่ถูกทำร้ายร่างกายจิตใจ จนกลายเป็นภาวะกดดันให้ฆ่า

กรณีของหมอนิ่มอาจจะไม่ใช่ผู้หญิงคนแรก ที่อยู่ในภาวะกดดัน และต้องตอบโต้สามีด้วยความรุนแรงกว่า ในทางจิตวิทยามีคำอธิบายเรื่องนี้ แต่ในการพิจารณาลงโทษทางกฎหมายยังไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้

“ทุกครั้งแค่ผลักหัว ตบตีบ้าง แต่ครั้งนี้ถึงกับขึ้นศอกขึ้นเข่า เตะเราอย่างแรง พอเราล้มลงตรงโต๊ะผลไม้ จึงหยิบมีดผลไม้แทงทีเดียว แล้ววิ่งหนีไป”

เสียงสะท้อนของผู้หญิงที่เคยถูกดำเนินคดีฆ่าสามี แม้เธอจะยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายสามีให้ถึงแก่ชีวิต เพียงแต่ต้องการป้องกันตัวเองเท่านั้น

เธอยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความกดดันที่ต้องแบกรับความเจ็บปวดทั้งกายและใจ เพราะสามีไปมีผู้หญิงอื่น เมื่อกลับบ้าน มักชวนทะเลาะ ทุบตีเธอมานานกว่า 15 ปี และในวันเกิดเหตุเมื่อปี 2552 การถูกทำร้ายอย่างหนัก กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย

คำให้การนี้ไม่ถูกบันทึกไว้ในชั้นพนักงานสอบสวน แต่เธอกลับถูกตั้งข้อหาเจตนาฆ่า ความพยายามต่อสู้ในชั้นศาล ที่เธอยืนยันว่าทำไปเพื่อป้องกันตัว และร้องขอให้นำมูลเหตุของปัญหาการตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว มาประกอบการพิจารณาคดี ทำให้สุดท้าย ศาลตัดสินว่าเธอไม่มีเจตนาฆ่า มีโทษจำคุกเพียง 2 ปี

กรณีที่เกิดขึ้นนักวิชาการด้านกฎหมาย น.ส.สุรีย์ฉาย พลวัน ผช.คณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม มองว่า คือการเลือกตอบโต้ของฝ่ายถูกกระทำ หวังยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งภาวะกดดันจากการถูกกระทำมาอย่างต่อเนื่อง เข้าข่ายพฤติกรรมที่เรียกว่า Battered Wife Syndrome 

พฤติกรรมนี้ไม่ใช่โรคจิต แต่เป็นอาการทางจิตในภาวะของคนที่เจอเรื่องเลวร้ายมายาวนาน เริ่มจากการ มีปากเสียงด่าทอ ความถี่จะแรงขึ้น ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แล้วก็จะมีเหตุให้ฝ่ายกระทำกลับมาง้อ ขอคืนดี และปัญหากลายเป็นวังวนอยู่เช่นนี้

โดยฝ่ายถูกกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่คือมักเป็นผู้หญิง จะมีอาการซึมเศร้า เก็บกด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และหาทางเพื่อยุติปัญหา โดยคิดเพียงต้องการรักษาชีวิตตัวเองและลูก

 


“ผู้หญิงกลัววิธีการตอบโต้ การจะหลุดพ้นความรุนแรงอาจเลือกใช้การฆ่าเป็นทางสุดท้ายแต่ผู้หญิง กลุ่มนี้ไม่กล้าทำ จะรอจนหมดฤทธิ์ และค่อยหยิบปืนหยิบมีดมาฆ่า พวกเขาจะมองว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ใจร้ายกว่าปกติ ” นักวิชาการ ระบุ

ในฐานะจำเลยกรณีความรุนแรงในครอบครัว การรับสารภาพ และขอให้ศาลมีคำสั่งสืบเสาะ แสวงหามูลเหตุจูงใจการถูกกระทำความรุนแรง โดยเฉพาะการสะท้อนถึงภาวะ ภาวะ "battered wife syndrome" คือวิธีที่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เชื่อว่า จะมีผลต่อการใช้ดุลยพินิจของศาล และเป็นช่องทางช่วยบรรเทาโทษแก่จำเลย

ตามประมวลกฎหมายอาญาศาลยังสามารถพิจารณาบรรเทาโทษ ได้ตามมาตรา 72 หากจำเลยกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ แต่ด้วยความผิดที่จำเลยกระทำการจากเหตุความรุนแรงในครอบครัว กลับถูกตีความว่าเป็นเจตนา และจงใจกระทำการ ด้วยเหตุนี้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

จึงเสนอเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 72 ให้ครอบคลุมถึงพฤติการที่ถูกข่มเหง ถูกทำร้ายต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นอีกช่องทาง ทำให้คดีความรุนแรงในครอบครัว ไม่ถูกพิจารณาเหมือนเช่นคดีความทั่วไป และผู้ตกเป็นเหยื่อได้รับความเป็นธรรม

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า ยากสำคัญที่สุดคือความเข้าใจตั้งแต่กระบวนการชั้นต้น คือ พนักงานสอบสวน อัยการ ต้องตั้งรูปคดีที่เอื้อต่อการพิจารณาเรื่องที่เกิดจากครอบครัว โดยพนักงาน เจ้าหน้าที่ ต้องเพิ่มมิติการใช้ชีวิตจริงเข้าไปในการทำสำนวน

“ ถึงจะมีการตั้งรูปคดีแบบนี้ขึ้นมา มีข้อมูลชัดเจน แต่ศาลยังติดกฎหมายที่บัญญัติตายตัว ว่าฆ่าโดยไต่ตรองไว้ก่อน มีโทษประการชีวิต และเหตุการณ์แบบนี้ยังไม่เข้าเงื่อนไข การบันดาลโทสะที่ศาลจะลดหย่อนโทษได้”

ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เห็นว่า ในอนาคตไม่เพียงเฉพาะภาวะ "battered wife syndrome" เท่านั้น แต่อาจหมายถึงภาวะ "battered person syndrome" ที่ทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรมจากเหตุที่มาจากการกระทำความรุนแรงในครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง