ร้อง กสทช.คุมเว็บหนังละเมิดลิขสิทธิ์

Logo Thai PBS
ร้อง กสทช.คุมเว็บหนังละเมิดลิขสิทธิ์
สมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ โร่พบ กสทช. ร้องคุมเว็บละเมิดลิขสิทธิ์หนัง คาดกว่า 10 ปีเสียหายนับ 10,000 ล้านบาท กสทช.จ่อประสานไอเอสพี ถอด 36 เว็บ

วันนี้ (27ธ.ค.2559)สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ นำโดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ กรรม การผู้จัดการ บ.เมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ กรุ้ป(มหาชน)พร้อมด้วยบรรดาผู้กำกับภาพยนตร์และนักแสดง เข้ายื่นหนังสือกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระ จายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เพื่อขอให้ดำเนินการกับเว็บไซต์ ที่นำภาพยนตร์ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทย อยู่ระหว่างการเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 ภาพยนตร์ไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ 5 ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และเป็นสินค้าส่งออกในระดับภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเล เซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บูรไน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แต่อุปสรรคใหญ่ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ คือการละเมิดลิขสิทธิ์


นายพรชัย ว่องศรีอุดมพร กรรมการสมาพันธ์ บอกว่า ทางสมาพันธ์ฯ พบปัญหาการละเมิดลิข สิทธิ์ลักษณะนี้มา 10 ปี จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การปล่อยหนังให้ดูฟรีผ่านช่องทางเว็บไซต์ต่างๆ เฟสบุ๊ค และแอพพลิเคชั่นไลน์ และอีกประเภท เป็นเว็บแบบบอกรับสมาชิก ซึ่งคาดว่ามีทีมงาน ที่มีความรู้ด้านไอทีจัดดูแลการ จัดระบบ และเก็บเงินออนไลน์ มีความสามารถทางเทคนิคเข้าถึงแหล่งข้อมูลของภาพยนต์ใหม่ได้รวดเร็ว และจากการเฝ้าระวังตั้งแต่ในช่วง 10 ปีมานี้ พบหลายยูอาร์แอลที่ดูดภาพยตร์ไปแบบนี้ และที่ผ่านมาทางสหพันธ์ฯ เคยแจ้งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เพื่อขอให้แก้ปัญหาแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า 

ขณะเดียวกัน เคยประสานไปที่เว็บไซด์ที่ละเมิด ซึ่งบางเว็บที่เป็นมือสมัครเล่นก็จะถอดออกให้ แต่บางเว็บไซด์ไม่ร่วมมือต่อการละเมิดที่เกิดขึ้น ซึ่งทางสมาพันธ์ฯ
ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะไม่ใช่ฝ่ายกำกับดูแลกฎหมาย

“ คาดว่า 10 ปีน่าจะมีความเสียหายราว  10,000 ล้านบาทแทนที่ประชาชนจะได้รับชมในโรงภาพยนตร์ ก็ถูกคนเหล่านี้สอยหรือดูด ไปให้ชมได้ผ่านเว็บโดยที่พวกเค้าไม่ต้องลงทุน แต่พวกเราต้องลงทุนในการสร้างและค่าใช้จ่ายต่างๆ และเป็นที่น่าเสียใจว่าประเทศไทยละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอันดับ 2 ของประเทศที่ถูกจัดอันดับของการละเมิดลิขสิทธิ์”นายพรชัย กล่าว


ด้าน นายอานนท์ มิ่งขวัญตา หรือ “พจน์ อานนท์”ผู้กำกับภาพยนตร์ ระบุว่า นอกจากผลกระทบที่เกิดกับผู้สร้างหนังสือ สิ่งที่กังวลคือ เยาวชนรุ่นใหม่ดูหนังออนไลน์กันมาก แต่ภาพยนตร์ที่ถูกละเมิดไปปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม และทำให้เยาวชนเข้าถึงได้สะดวก ส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ลามกอนาจาร หรือขายยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ซึ่งล้วนเป็นอบายมุขที่ทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่ายหากไม่ป้องกันให้ดี ทั้งนี้ สำหรับการผลิตหนังแต่ละเรื่องต้องใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 20-30 ล้านบาทต่อเรื่อง

 



นายฐากร ระบุว่า เบื้องต้นจะตรวจสอบ 36 เว็บไซต์ที่สหพันธ์แจ้งมา และเรียกประชุมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต(ไอเอสพี) จำนวน 13 ราย เช่น บ.กสท.โทรคมนาคมคม, บริษัท ทีโอที, บริษัทดีแทค,เอไอเอส, ทรู, ทริปเปิลทรี, ซีเอส ล็อก อินโฟร์ เพื่อหาแนวทางร่วมกัน ซึ่งตามขั้นตอนแล้วหากผู้เสียหายที่โดนละเมิด มีใบแจ้งความจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมอบให้กสทช. ก็จะช่วยประสานไปทางไอเอสพี เพื่อขอให้ดำเนินการถอด หากยังไม่ดำเนินการ ก็จะต้องผ่านกระบวนการขอคำสั่งจากศาล โดยกสทช.จะเร่งรัดดำเนินการ เนื่องจากปัญหาการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง