จี้รื้อกระบวนการยุติธรรม มองหญิงฆ่าสามีลึกกว่าคดีอาชญกรรม

สังคม
27 ธ.ค. 59
19:56
418
Logo Thai PBS
จี้รื้อกระบวนการยุติธรรม มองหญิงฆ่าสามีลึกกว่าคดีอาชญกรรม
องค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง เรียกร้องทบทวนกลไกกระบวนการยุติธรรม ไม่มองหรือพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นคดีอาชญากรรมเท่านั้น แต่นำปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมาพิจารณาด้วย หลังพบปัจจัยส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงฆ่าสามี เพราะถูกทำร้ายร่างกายสะสม

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวปี 2552 พบกรณีภรรยาเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อสามีรวม 27 ข่าว ในจำนวนนี้ภรรยาเป็นคนฆ่าสามี 24 ข่าว ขณะที่ปี 2553 ลดลงเหลือเพียง 2 ข่าว และปี 2556 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 12 ข่าว

เมื่อสำรวจกรณีฝ่ายสามีกระทำความรุนแรงต่อภรรยาในปี 2552 มีสูงสุดถึง 72 ข่าว ในจำนวนนี้มีข่าวสามีฆ่าภรรยา 42 ข่าว และปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 46 ข่าว ส่วนในปี 2556 ลดลงเหลือ 31 ข่าว ปัจจัยส่วนใหญ่ที่สามีฆ่าภรรยามาจากความหึงหวง ทะเลาะ ทำร้ายร่างกาย และบังคับหลับนอน ขณะที่กรณีภรรยาฆ่าสามี ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากการถูกสามีกระทำด้วยความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล เก็บกด นอนไม่หลับ บางคนคิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากกลัวว่าสามีจะฆ่าตนเอง ส่วนบางคนเลือกตอบโต้เพื่อป้องกันตนเองและลูก

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่ฆ่าสามีจะถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาเจตนาฆ่า หรือฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะการสืบสวน หรือทำสำนวนคดีมักมุ่งไปในเชิงอาชญากรรม โดยพิจารณาการกระทำที่ปลายเหตุ แต่ไม่ได้นำมูลเหตุปัญหาการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาประกอบการพิจารณา ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกตัดสินโทษสูงสุด

นักวิชาการที่ทำงานด้านผู้หญิง จึงเห็นตรงกันว่า ควรปรับเปลี่ยนแนวทางการพิจารณาคดี ตั้งแต่กระบวนการชั้นต้น คือพนักงานสอบสวน อัยการ รวมถึงชั้นศาล ที่ต้องมองให้ครอบคลุมทุกมิติ นำมูลเหตุแห่งปัญหาจากความรุนแรงในครอบครัวมาประกอบการพิจารณาคดีด้วย นอกจากนี้ ยังเสนอให้ทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวปี 2550 ที่ยังไม่เอื้อต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวปี 2550 เป็นเพราะทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมบางส่วน ยังไม่ตระหนักในบทบาทหน้าที่ ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเท่าที่ควร จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง