ข่าวเด่น 2559 : ตั้งสมเด็จพระสังฆราชปมขัดแย้งวงการสงฆ์

สังคม
27 ธ.ค. 59
20:58
1,026
Logo Thai PBS
ข่าวเด่น 2559 : ตั้งสมเด็จพระสังฆราชปมขัดแย้งวงการสงฆ์
การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ กลายเป็นความขัดแย้งในวงการสงฆ์ที่ยังไม่มีข้อยุติ โดยฝ่ายหนึ่งสนับสนุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชตามกฎหมายสงฆ์ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง มองว่าต้องพิจารณาความเหมาะสมประกอบด้วย

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ คือ สมเด็จพระราชาคณะที่ถูกเสนอชื่อให้ได้รับการทูลเกล้าฯ สถาปนาแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ตามมติมหาเถรสมาคม วาระลับพิเศษ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559

มหาเถรสมาคม (มส.) อ้างหลักปฏิบัติตามจารีตประเพณี เป็นไปตามกฎหมายคณะสงฆ์ปี 2505 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราช มาตรา 7 ที่การเสนอชื่อต้องยึดจากสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ซึ่งมติครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งวงการสงฆ์

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นคนแรกที่ออกมาคัดค้านการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขฝ่ายส่งฆ์ของสมเด็จช่วง โดยยกกรณีการถือครองทรัพย์สินรถโบราณที่ขัดต่อพระธรรมวินัย นำไปสู่การตรวจสอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คู่ขนานกับพระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ที่ระบุถึงความไม่เหมาะสม โดยอ้างความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างสมเด็จช่วงกับพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย

ขณะที่พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และฆราวาสในนามกลุ่มนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) มองว่า กลุ่มที่คัดค้านก้าวล่วงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ พร้อมกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องรอให้ข้อกล่าวหาและคดีความต่างๆ ยุติ จึงจะสามารถนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเมื่อพระสงฆ์และฆราวาส ใช้พื้นที่พุทธมณฑลเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอีกครั้ง โดยตัวแทนพระและฆราวาสจากทั้ง 2 ฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหว ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองและเป็นปัจจัยที่นักวิชาการด้านศาสนา เชื่อว่า ยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลาย

ผศ.ชาญณรงค์ บุญหนุน ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชในอดีตจะพบความขัดแย้งของคณะสงฆ์ 2 นิกาย คือ ธรรมยุต และมหานิกาย แต่การยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตประเพณี ก็ช่วยให้คลี่คลายปัญหา ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่การเมืองเข้ามาแทรกแซง

ปัจจุบันสมเด็จพระราชาคณะในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 8 รูป แบ่งเป็นฝ่ายธรรมยุติ 4 รูป และมหานิกาย 4 รูป โดยสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขณะนี้ อันดับ 1 คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2538 อันดับ 2 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม อันดับ 3 คือ สมเด็จพระมหามุณีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้รับโปรดเกล้าสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2559 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง