สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวด-เล็งรื้อโครงสร้างคณะสงฆ์ต่อ

การเมือง
29 ธ.ค. 59
15:07
4,407
Logo Thai PBS
สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวด-เล็งรื้อโครงสร้างคณะสงฆ์ต่อ
วันนี้ (29 ธ.ค.2559) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 186 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ 3 วาระรวด โดยสาระสำคัญคือการให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแทนมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม

นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานการประชุม สนช.วันนี้ ซึ่งมีวาระพิจารณางร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ สมาชิก สนช. และคณะรวม 48 คน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม โดยให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมศักดิ์และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

การประชุมเริ่มต้นด้วยการเปิดอภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ตามที่สมาชิก สนช. 81 คน นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เป็นผู้เสนอซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไข 4 ประการ คือ เพื่อสืบทอดและธำรงรักษาไว้ซึ่งโบราณราชประเพณี, แก้ปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่สอดรับกับแนวทางปฏิบัติ, แก้ปัญหาข้อกฎหมายที่ขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญ และแก้ปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ซึ่งมีสมาชิก สนช.ลุกขึ้นอภิปราบสนับสนุน 7 คน

สมาชิก สนช.ที่ลุกขึ้นอภิปรายได้กล่าวถึงปัญหาข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งว่าด้วยขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสงฆราชองค์ใหม่ที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในอดีต ตลอดจนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยระบุว่ากำลังเป็นเหตุให้เกิดความเห็นแย้งและนำไปสู่ทางตัน ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ด้วยเหตุนี้ สมาชิก สนช. จึงเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน

หลังจากนั้นนายสมพร เทพสิทธาและ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ได้เสนอต่อประธานในที่ประชุมเพื่อพิจารณาแบบเต็มสภาหรือแบบ 3 วาระ ดังนั้นเมื่อสมาชิก สนช.ลงมติด้วยคะแนนเอกฉันท์รับหลักการของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2535 แล้ว เมื่อไม่มีเสียงคัดค้าน จึงเปิดพิจารณาวาระ 2 และ 3 ต่อทันที

สำหรับวาระ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณาในรายละเอียด รวม 3 มาตราโดยมาตรา 1 คือข้อบัญญัติว่าด้วยชื่อของร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขใน ปี 2559 และมาตรา 2 ว่าด้วยผลการบังคับใช้ "ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา" และมาตรา 3 คือข้อบัญญัติที่ให้ยกเลิกความเดิมในมาตรา 7 และให้บังคับใช้ความใหม่ คือ "พระมหากษัติรย์ทรงสถานปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรี ลงนามรับรองพระบรมราชโองการ"

ทั้ง 3 มาตรา ไม่มีสมาชิก สนช. คนใดลุกขึ้นอภิปรายขอแก้ไขหรือมีความเห็นต่าง ทำให้ประธานในที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 3 และสรุปมติเอกฉันท์ 186 เสียงให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยใช้เวลาพิจารณาไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็เสร็จสิ้นในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย โดยมีนายออมสิน ชีวะพฤษก์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมยืนยันว่า ครม.เห็นชอบกับ สนช. โดยไม่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม หรือส่งร่างกฎหมายอื่นมาประกบ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ยืนยันว่า การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระ เป็นไปตามขั้นตอน ไม่ได้มีสัญญาณจากรัฐบาล ซึ่งการแก้ไขเพียงมาตราเดียว ก็สามารถใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภาได้ และผู้ที่เสนอกฎหมายได้ศึกษาอย่างรอบด้านแล้ว จึงเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายเป็นร่างแก้ไข โดยขออย่าให้มองว่าการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ กีดกันพระรูปหนึ่งรูปใด

"สมพร" เตรียมเสนอปรับปรุงโครงสร้างคณะสงฆ์

นายสมพร เทพสิทธา รองประธาน คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สนช. ชี้แจงถึงการผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 3 วาระรวด ในวันนี้ (29 ธ.ค.) ว่าเป็นเพราะ สนช. ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ และการแก้ไขครั้งนี้มีเพียงมาตราเดียวจึงทำได้รวดเร็ว หากไม่เร่งพิจารณาจะมีปัญหาการเคลื่อนไหวคัดค้านเกิดความวุ่นวายได้

นายสมพยืนยันด้วยว่าการดำเนินเรื่องนี้ สนช. ไม่ได้ไปก้าวก่ายมหาเถรสมาคม แต่ถือเป็นหน้าที่โดยตรงของ สนช. เพราะกฎหมายมีปัญหาที่ขัดแย้งโบราณราชประเพณี และขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในประเด็นการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจโดยตรงของพระมหากษัตริย์ แต่กฎหมายเมื่อปี 2535 กลับไปริดรอนพระราชอำนาจอย่างไม่ถูกต้อง จึงขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะพระสงฆ์ที่คัดค้านได้เข้าใจถึงความจำเป็นเพราะถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด

นายสมพร ยังเห็นว่าปัญหาโครงสร้างการบริหารคณะสงฆ์ในปัจจุบันมีปัญหาเพราะเป็นรูปแบบรวมอำน ทำให้อำนาจบริหารทั้งหมดอยู่ที่มหาเถรสมาคมองค์กรเดียว ทั้งที่ควรกระจายอำนาจแบบปี2484 โดยมีการแบ่งโครงสร้างการบริหารแบบเดียวกับรูปแบบการปกครองประเทศ มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ซึ่งหลังจากนี้เมื่อมีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่แล้ว คณะกรรมาธิการฯจะเข้าหารือกับมหาเถรสมาคม เพื่อขอความเห็นชอบร่วมกันที่จะแก้ไขกฎหมายปรับปรุงโครงสร้างคณะสงฆ์ให้เป็นแบบรูปแบบการกระจายอำนาจ โดยยังคงให้มีมหาเถรสมาคมต่อไปในรูปแบบ ที่ปรึกษาสมเด็จพระสังฆราชทำหน้าที่คล้ายองคมนตรี เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขความคัดแย้งในวงการสงฆ์ได้


ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ "เสียใจ" กับมติ สนช.แต่ไม่เคลื่อนไหวเพราะผ่าน 3 วาระไปแล้ว

ภายหลังจากที่ สนช.มีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวด พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า "จากการที่อาตมา องค์กรพุทธ พระสงฆ์ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น แสดงออก คัดค้าน ไม่เห็นด้วยโดยความบริสุทธิ์ใจจากการที่สมาชิก สนช.ได้เสนอแก้ไข พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ในมาตราที่ 7 ความละเอียดทราบแล้วนั้น บัดนี้อาตมา องค์กรพุทธและพระสงฆ์ทั้งปวงขอยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับสมาชิก สนช. ที่ได้ดำเนินในครั้งนี้ แต่พวกเราขอยืนยันว่าพวกเราเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้นจะต้องเป็นพระราชอำนาจ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับเดิมก่อนมีการแก้ใขในครั้งนี้ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก็คงเป็นพระราชอำนาจ เช่นกัน"

"ดังนั้นอาตมา องค์กรพุทธ และพระสงฆ์ทั้งปวงเพียงแต่ไม่เห็นด้วยในหลักการเรื่องการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่ไม่คงที่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเท่านั้นเอง ส่วนพระราชอำนาจนั้นต้องคงไว้เช่นเดิม ไม่มีใครจะก้าวล่วงได้"

"วันนี้ อาตมา องค์กรพุทธและพระสงฆ์ทั้งปวงจะไม่ไปยื่นหนังสือคัดค้านที่นายกรัฐมนตรีหรือประธาน สนช. แน่นอน เพราะไม่มีประโยชน์ใดๆ และก็จะไม่จัดแถลงข่าวในเรื่องนี้ด้วย เพราะกฎหมายได้ผ่าน 3 วาระไปแล้ว ได้แต่แสดงความไม่เห็นด้วย เสียใจ และฝากไปถึงคณะสงฆ์เครือข่ายประเทศด้วยว่าขอให้ยุติการออกมาร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์หลังปีใหม่แล้วนั้น และฝากเป็นข้อคิดสำหรับคณะสงฆ์ด้วยว่า วันข้างหน้าเราจะอยู่กันอย่างไร วันนี้ อาตมาพูด แถลงได้แต่เพียงเท่านี้ ท้ายนี้อาตมาขอย้ำว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจะต้องเป็นพระราชอำนาจเท่านั้น" พระเมธีธรรมาจารย์ระบุ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง