ข่าวเด่น 2559 ผลประเมิน PISA 2015 ตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

สังคม
1 ม.ค. 60
15:54
2,749
Logo Thai PBS
ข่าวเด่น 2559 ผลประเมิน PISA 2015 ตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย
ถือเป็นข่าวที่แวดวงการศึกษาต้องกลับมาทบทวนการจัดการเรียนการสอน ของเด็กไทย หลังผลการประเมินผล PISA พบว่าคะแนนในรายสาขาทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน ของเด็กไทยต่ำกว่าประเทศในกลุ่มโออีซีดี

ข่าวใหญ่ที่สุดของแวดวงการศึกษาไทยในช่วงปลายปีนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการประกาศผลคะแนนการทดสอบ PISA 2015 ซึ่งนอกจากจะสร้างความตระหนกให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาจากผลที่ปรากฏออกมาว่าเด็กไทยทำคะแนนเฉลี่ยได้ลดต่ำลงมากกว่าคะแนนที่เคยได้จากการทดสอบครั้งที่ผ่านมาแล้วนั้น อีกปัญหาที่ถูกทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นจากผลการทดสอบครั้งนี้คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สะท้อนผ่าน “ช่วงห่าง” ของคะแนนสูงสุดกับคะแนนต่ำสุดระหว่างคะแนนของเด็กไทยด้วยกันเอง ที่มีการประเมินว่าเท่ากับเด็กที่มีทักษะการเรียนที่มีระดับต่างกันมากถึง 3 ปี

อันดับคะแนน สะท้อนความด้อยศักยภาพการศึกษาไทยในเวทีโลก


สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่การสรุปผลตามโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ เมื่อปี 2558 หรือ PISA 2015 โดยสรุปว่า จากการประเมินความสามารถของนักเรียนไทยกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีทั้งหมด 8,249 คน จาก 273 โรงเรียนของทุกสังกัดการศึกษา ในการใช้ความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงใน 3 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ปรากฏว่า เด็กไทยทำคะแนนได้ลดลงจากการประเมินเมื่อปี 2555 (PISA 2012) ในทุกด้าน และยังต่ำกว่าคะแนนค่าเฉลี่ยของ OECD โดยด้านการอ่านเป็นด้านที่มีคะแนนลดลงมากที่สุด

รองลงมาคือด้านวิทยาศาสตร์ และน้อยที่สุดคือ ด้านคณิตศาสตร์ และเมื่อรวมคะแนนเฉลี่ยแล้วประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 54 จากจำนวนประเทศที่เข้าทดสอบทั้งหมด 72 ประเทศ ทำให้เมื่อ OECD วิเคราะห์เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของแต่ละประเทศ พบว่า เด็กไทยที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ในระดับสูงเทียบเท่าระดับโลกนั้นยังมีอยู่น้อยมาก จนทำให้ไม่มีชื่อประเทศไทยปรากฏอยู่บนแผนภาพของ OECD ที่แสดงสัดส่วนนักเรียนที่ได้คะแนนสูงในแต่ละประเทศโดยถ่วงน้ำหนักประชากร ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกลับมีจำนวนเด็กที่ได้คะแนนสูงมากกว่าจนสามารถปรากฏชื่อประเทศบนแผนภาพได้

นัยของช่วงห่างของคะแนนสูงสุดและต่ำสุด

 

เมื่อพิจารณา “ช่วงห่างของคะแนน” จากผลการทดสอบของเด็กไทย ไม่ว่าจะเป็นช่วงห่างระหว่างเด็กที่ทำคะแนนได้สูงสุดกับเด็กที่ทำคะแนนได้ต่ำสุด หรือช่วงห่างคะแนนระหว่างกลุ่มโรงเรียน พบว่า มีช่วงห่างที่มาก อย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อคำนวณช่วงห่างของคะแนนระหว่างเด็กที่ทำคะแนนได้สูงสุดกับเด็กที่ทำคะแนนได้ต่ำสุดออกมาเป็นเส้นกราฟ พบว่ามีช่วงห่างกันมากถึง 3 ระดับ ซึ่งเท่ากับว่า เด็กทั้ง 2 กลุ่มมีทักษะการเรียนต่างกันมากถึง 3 ปี ในขณะที่ด้านความแตกต่างของคะแนนระหว่างกลุ่มโรงเรียนไทย ผลปรากฏออกมาว่า กลุ่มโรงเรียนที่นักเรียนมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD จะเป็นนักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และรวมถึงกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย ในขณะที่นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนทั่วไปๆ ที่สังกัดรัฐ เอกชน และท้องถิ่น กลับทำคะแนนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD

การเกิดช่วงห่างของคะแนนมากขนาดนี้ มีการวิเคราะห์กันว่าสาเหตุสำคัญมาจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา โดยผลทดสอบระบุว่า เด็กที่ได้คะแนนสูงจะอยู่ในกลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาได้มากกว่ากลุ่มโรงเรียนทั่วไปๆ ที่สังกัดรัฐ เอกชน และท้องถิ่น เช่น ได้รับงบประมาณสนับสนุนรายหัวต่อเด็กมากกว่า สามารถจัดจำนวนครูต่อนักเรียนและรายวิชาได้มากกว่า รวมไปถึงสามารถกำหนดหลักสูตรที่มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์ วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินการเรียนการสอนได้เอง การได้รับทรัพยากรทางการศึกษาที่มากกว่าเช่นนี้ ทำให้โรงเรียนในกลุ่มแรกมีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพมากกว่า โดยเฉพาะคุณภาพในด้านการคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของการประเมิน PISA และส่งผลให้เด็กนักเรียนจากโรงเรียนเหล่านี้ทำคะแนนทดสอบ PISA ได้สูงกว่าเด็กนักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่เข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาได้น้อยกว่า

 



จับตาร่างแผนการศึกษากับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 


หลังจากประกาศผลการทดสอบ PISA 2015 ไม่นาน นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญศิล์ป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงยอมรับว่า ผลคะแนนสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย และระบุว่ากระทรวงศึกษาธิการจะนำผลสะท้อนจากคะแนน PISA เป็นแนวทางที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ระบุไว้ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2574 ที่จะประกาศใช้ในอีกไม่นานนี้ โดยการเพิ่มคะแนน PISA ให้ได้ตลอดทุกระยะ 3 ปีที่จะมีการทดสอบนับจากนี้ ถูกระบุให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของเป้าหมายการเพิ่มคุณภาพการศึกษา

การแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสะท้อนให้เห็นว่า ผลคะแนน PISA 2015 ได้ถูกยกให้เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไข ถึงขนาดถูกบรรจุไว้ในร่างแผนการศึกษาของชาติ แต่คงต้องจับตาดูต่อไปว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่าคะแนน PISA คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาคะแนน PISA 2015 และเป็นรากที่แท้จริงของปัญหาระบบการศึกษาไทยนั้น จะได้ถูกแก้ไขด้วยหรือไม่

เรียบเรียงโดย ทีมข่าวนโยบายสาธารณะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง