นายกฯ เตรียมแก้ รธน.ชั่วคราว สนองพระราชกระแสรับสั่ง แก้ รธน.หมวดพระมหากษัตริย์

การเมือง
10 ม.ค. 60
18:09
2,780
Logo Thai PBS
นายกฯ เตรียมแก้ รธน.ชั่วคราว สนองพระราชกระแสรับสั่ง แก้ รธน.หมวดพระมหากษัตริย์
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าเตรียมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวดพระมหากษัตย์ พร้อมยืนยันว่าไม่มีเจตนาขยายโรดแมปออกไปจากเดิม และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะเดินหน้าตามกรอบกติกาที่กำหนดไว้

วันนี้ (10 ม.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เปิดเผยว่าสำนักราชเลขาธิการได้ทำเรื่องมายังรัฐบาลถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ 3-4 ประเด็น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อปรับแก้สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการจะแล้วเสร็จไม่เกิน 3 เดือน

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า รัฐบาล-คสช.ไม่มีเจตนาให้โรดแมปต้องขยายออกไป ซึ่งการดำเนินการมีกรอบเวลากำหนดชัดเจน และจะเดินหน้าเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ และเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีสำคัญ จะให้ฝ่ายการเมืองเริ่มพูดคุยเพื่อเตรียมคัดเลือกผู้สมัคร และเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง และจนถึงขณะนี้ยังคงย้ำกรอบโรดแมปที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปี 2561

"อีกประเด็นที่องคมนตรีมาพบเมื่อวานนี้ เนื่องจากสำนักราชเลขาธิการได้ทำเรื่องมาที่รัฐบาลว่ามีประเด็นที่ต้องหารือกับรัฐบาลในเรื่องรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางฝ่ายองคมนตรีนำทูลเกล้าฯ ขึ้นไปแล้วนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่า มี 3-4 รายการ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด เป็นเรื่องพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน การจะทำได้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประมาณไม่เกิน 1 เดือน รัฐธรรมนูญอาจจะแก้ได้ก่อน โดยนำรัฐธรรมนูญฉบับที่ทูลเกล้าฯ มาแก้ไขใหม่ นำลงมาแล้วดำเนินการแก้ให้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นก็อยู่ในกรอบเวลา ซึ่งจะครบในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ คาดว่าจะแก้ไขเสร็จไม่เกิน 2-3 เดือนข้างหน้า จึงทูลเกล้าฯ ขึ้นไปอีกครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวจำเป็นต้องทำ เพราะว่าฉบับที่ผ่านการเห็นชอบประชามติไปแล้ว ต้องหาวิธีแก้ให้ได้ ไม่ต้องไปทำประชามติ" นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะกรรมการปฎิรูปและสร้างความปรองดอง มีความคืบหน้าในโครงสร้าง ทั้ง 3 ด้านหลัก คือ งานด้านปฏิรูป ความปรองดอง และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะทำให้การทำงานเกิดความชัดเจนขึ้น สิ่งใดที่ติดขัดในข้อกฎหมายก็ให้ปรับแก้กฎหมายหรือกรณีจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ก็จะต้องดำเนินการ โดยยืนยันว่าจะไม่อยู่ในอำนาจตลอดช่วงเวลา 20 ปี ของแผนยุทธศาตร์ชาติ จึงขอให้ทุกฝ่ายไม่ต้องกังวลใจ ซึ่งการดำเนินการเป็นการส่งต่องานจากรัฐบาลสู่รัฐบาล ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึง กรณีการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง 4 คณะ ว่าพร้อมเดินหน้าในส่วนของคณะกรรมการปรองดอง โดยร่วมมือกับทุกฝ่ายและมีเหล่าทัพเข้ามาร่วมผลักดันกระบวนการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เสนอแนวทางสร้างความปรองดอง

พล.อ.ประวิตร ระบุว่าจะต้องแยกเรื่องการสร้างความปรองดองกับการกระทำผิดกฎหมายที่จะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน และไม่ควรนำเรื่องนิรโทษกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นคนละประเด็นกัน ดังนั้นจึงขอให้เป็นไปตามกระบวนการสร้างความปรองดองที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่ควรคิดกันไปเองล่วงหน้าว่าจะมีเรื่องอื่นๆเข้ามาเชื่อมโยงหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง