เร่งระบายน้ำค้างทุ่ง 800 ล้าน ลบ.ม.พ้นลุ่มน้ำปากพนัง

ภัยพิบัติ
12 ม.ค. 60
07:48
448
Logo Thai PBS
เร่งระบายน้ำค้างทุ่ง 800 ล้าน ลบ.ม.พ้นลุ่มน้ำปากพนัง
พล.อ.ฉัตรชัย สั่งระดมเครื่องสูบขนาดใหญ่เร่งพร่องน้ำค้างทุ่งประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร ออกจากลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ภายใน 7-10 วัน ก่อนฝนระลอกใหม่มากลางเดือนม.ค.นี้ ส่วนชุมพร-กระบี่-สงขลา ระดับน้ำลดลง ชาวบ้าน ภาครัฐร่วมทำความสะอาด

จากการลงพื้นที่ของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้วานนี้(11ม.ค.2560)ในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราชและตรัง โดยพบว่า จ.นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน มี 2 พื้นที่ คือ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งน้ำมาจากเทือกเขาหลวง ไหลผ่านคลองท่าดี ลงทะเล แต่คลองเล็กระบายไม่ทัน ขณะนี้น้ำเริ่มลดลงมา ส่วนอีกพื้นที่หนึ่ง คือ ลุ่มน้ำปากพนัง ครอบคลุมอ. ปากพนัง ร่อนพิบูลย์ เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ ชะอวด และหัวไทร ยังมีมวลน้ำรอการระบาย ประมาณ 800 ล้าน ลบ.ม.แต่กรมชลประทานมีศักยภาพระบายน้ำได้แค่ 162 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตอนนี้ได้สั่งการให้กรมชลประทาน ประสานกับทางจังหวัดติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่มีขนาด 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้แล้วเสร็จภายใน 7 – 10 วัน ก่อนที่ฝนรอบใหม่ที่คาดการณ์จะมาในช่วงวันที่ 20 ม.ค.นี้ 

 

พล.อ.ฉัตรชัย บอกว่า มาตรการเร่งด่วนขณะนี้ คือ เร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด โดยเพิ่มเติมจุดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อระบายออกทะเลให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน ต้องพิจารณาเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งด้วย พร้อมทั้งจัดทำแผนระยะกลางและระยะยาวในการแก้ปัญหา เช่น การผันน้ำเลี่ยงเมืองเริ่มทำแล้วที่หาดใหญ่ จ.สงขลา และ ตรัง กำลังจะดำเนินการที่นครศรีธรรมราช ในส่วนลุ่มน้ำปากพนัง บางส่วนได้ทำแล้วมีแผนแล้ว 3 แห่ง ยังขาดอีก 1 แห่ง เนื่องจากติดปัญหาที่ดิน ดังนั้น ทางจังหวัดต้องช่วยเจรจากับประชาชนในพื้นที่ และพิจารณาจัดทำคลองระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อให้บริหารจัดการน้ำทั้งหน้าฝนและหน้าแล้งมีประสิทธิภาพ

ตั้ง 11 ทีมเยียวยาและฟื้นฟูน้ำท่วมเสร็จภายใน 1 เดือน


พล.อ.ฉัตรชัย บอกด้วยว่า ขณะที่มาตรการช่วยเหลือทั้งระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า และการฟื้นฟู เยียวยานั้น ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ 11 คนประจำในพื้นที่ภาคใต้ 11 จงหวัดเพื่อบูรณาการทำงานกับจังหวัดในการจัดทำแผนฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งเบื้องต้นขณะนี้ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เพิ่มทีมเฉพาะกิจจากส่วนกลางกว่า 200 นาย ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือให้สัตว์กลับที่โดยเร็ว และแนะนำการทำคอกสัตว์ให้ปลอดเชื้อ ป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดด้วยในส่วนของพืชให้หน่วยในกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปดูผลกระทบของพืชโดยเฉพาะพืชสวน เช่น ปาล์ม ยาง ในพื้นที่น้ำท่วม แนะนำเกษตรกร วางแผนการฟื้นฟู รวมทั้งบางพื้นที่อาจจะต้องวางแผนการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร วงรอบการเพาะปลูก การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินตามระเบียบทางราชการต่างๆ จะต้องดำเนินการโดยเร็ว

 


สำหรับจุดที่ใช้เป็นพื้นที่อพยพสัตว์ของกรมปศุสัตว์ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่จัดหาเสบียงอาหารสัตว์ให้พร้อม คาดว่าจะมีอาหารสัตว์เพียงพอถึง 1 เดือน และสั่งการให้ส่วนกลางเตรียมเจ้าหน้าที่ เวชภัณฑ์ให้พร้อม เนื่องจากกังวลเรื่องโรคระบาดในสัตว์หลังน้ำท่วม นอกจากนี้ยังขอให้หน่วยงานในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมเร่งรัดเงินช่วยเหลือน้ำท่วม 3,000 บาทให้เร็วขึ้น เพราะรัฐบาลต้องการให้เกษตรกรได้รับเงินเพื่อนำไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมขอให้ปรับวิธีการทำงาน โดยลงไปหาประชาชนและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้การแก้ปัญหาทำได้รวดเร็ว


กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุภาคใต้แนวโน้มฝนลดลง

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(12 ม.ค.2560) กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาพอากาศใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า สถานการณ์ฝนในภาคใต้ได้คลี่คลายแล้ว แต่ยังต้องจับตาภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนตกได้ในระยะนี้โดยเฉพาะหย่อมความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนไปปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ใกล้ประเทศเมียนมา และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงในระยะต่อไป จึงทำให้ภาคใต้เกือบทั้งภาคปลอดจากฝนตกหนักในระยะนี้ขณะเดียวกันจะมีอิทธิพลต่อพื้นที่ประเทศไทยฝั่งตะวันตกและภาคเหนือ พบว่า จังหวัดตาก อาจมีฝนตกหนัก ในระยะ 1-2 วันนี้ รวมถึง จ.กาญจนบุรีสุโขทัย และอุตรดิตถ์


สงขลา-ชุมพร-กระบี่ น้ำลดลงแล้ว

 สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของภาคใต้ ล่าสุด ระดับน้ำเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลายหน่วยงานร่วมกันเร่งทำความสะอาด บ้านเรือนสถานที่ราชการ ถนนสายต่างๆให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่ได้รับการแจ้งเตือนระลอกใหม่ 

โดยพื้นที่ 5 อำเภอริมทะเลสาบสงขลา ได้แก่ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงห นคร และควนเนียง จ.สงขลา ในภาพรวมสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนน้ำทะเลหนุนลดน้อยลง การระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ชาวบ้านในพื้นที่ มีความกังวลต่อสถานการณ์ฝนที่จะตกลงมาอีกรอบ ในช่วงวันที่ 16-17 ม.ค.นี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยามีคำเตือนออกมา

 


ส่วนที่จ.กระบี่ ทหาร จากกองพันทหารที่ 1 กรมทหารราบที่ 15 และตำรวจภูธร จ.กระบี่ ช่วยชาวบ้านทำความสะอาด บ้านเรือนประชาชน ถนนบริเวณชุมชุนเมืองเก่า 9.กระบี่ใหญ่ อ.เมืองกระบี่ ที่ถูกน้ำป่าเทือกเขาพนมเบญจา ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 700 หลังคาเรือน ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้รับควาเดือดร้อน กว่า 5,000 คน


เช่นเดียวกับที่จ.ชุมพร บริเวณตลาดเขตเทศบาลเมืองหลังสวน นายณรงค์ พลละเอียด ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นักเรียน นักศึกษา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่อำเภอหลังสวน ร่วมกันล้างถนนและเก็บกวาดเศษขยะ จำนวนมากหลายร้อยตัน หลังในพื้นที่น้ำท่วมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง