"พลังชุมชน"ฝ่าวิกฤตน้ำท่วม

สังคม
12 ม.ค. 60
08:42
514
Logo Thai PBS
"พลังชุมชน"ฝ่าวิกฤตน้ำท่วม
ถอดบทเรียนภาคสังคม พลังชุมชนรับมือภัยพิบัติฝ่าวิกฤตน้ำท่วมภาคใต้ ชี้ต้องทำฐานข้อมูลชุมชน รู้กายภาพหมู่บ้าน ทำแผนฉุกเฉินรับมือ

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่รุนแรงครั้งนี้ มีคำถามถึงความพร้อมในการรับมือภัยจากธรรมชาติ และการเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดเหตุได้ทันท่วงทีหรือไม่ ความช่วยเหลือของเครือข่ายภาคชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนที่ความช่วยเหลือของภาครัฐจะเดินทางไปถึง ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้ปัญหาผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้มีความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

พลังความร่วมมือช่วยพ้นวิกฤต

 

การให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตของผู้ประสบภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือ กู้ชีพ กู้ภัย การพยาบาลสาธารณสุข ตลอดจนการบรรเทาทุกข์และแจกจ่ายสิ่งของยังชีพ การดูแลช่วยเหลือผู้อพยพและการจัดการศูนย์อพยพ เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นตามหลัก “การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย” ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นแนวทางการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2550 และกำหนดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่มีหน้าที่ในการจัดการสาธารณภัยของประเทศตามแนวทางนี้

แต่ภัยพิบัติหลายครั้งรวมทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และเกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ทำให้การเดินทางเข้าไปช่วยเหลือของภาครัฐเป็นไปได้ยากและไม่เพียงพอต่อความต้องการความช่วยเหลือที่มีจำนวนมาก การรอคอยแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐจึงอาจจะไม่ทันการและอาจจะยิ่งทำให้ปัญหาผลกระทบเลวร้ายลงไป ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รวมกลุ่มและส่งต่อความช่วยเหลือกันเองในหลายพื้นที่ และได้ช่วยให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นบรรเทาความรุนแรงลง ในขณะที่บางพื้นที่ ชาวบ้านก็สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมดก่อนที่ความช่วยเหลือของภาครัฐจะเข้าไปถึง

 

 

เตรียมพร้อม"ข้อมูลชุมชน"รู้ทันสถานการณ์

 

แสงนภา หลีรัตนะ จากเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จังหวัดชุมพร กล่าวว่า ภารกิจงานจริงๆ ของเครือข่ายคือทำเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมสุขภาวะ ซึ่งก็รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบ ก็ถูกนับเป็นภารกิจหนึ่งของเครือข่ายด้วยเช่นกัน โดยปัจจัยสำคัญที่เครือข่ายมีคือต้นทุนข้อมูลเดิม ทั้งข้อมูลชาวบ้านในเครือข่าย รวมไปถึงข้อมูลสภาพและสถานการณ์จริงในพื้นที่ ทำให้เครือข่ายสามารถวิเคราะห์ความรุนแรงของปัญหา วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และพื้นที่ที่ควรลงไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมไปถึงการส่งข้อมูลให้สมาชิกได้เตรียมความพร้อมรับมือ

“คือต้องรู้บริบทของพื้นที่ว่า พื้นที่หลังสวนนี้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับอำเภอพะโต๊ะ จ.ระนอง ถ้าฝนตกหนักมาจากพะโต๊ะและระนอง ทางพื้นที่ข้างล่างก็ต้องเตรียมรับเลย พื้นที่ข้างล่างก็หมายถึงทั้งบริเวณอำเภอหลังสวน เทศบาลเมืองหลังสวน แล้วต่อเนื่องไปถึงทะเล ดังนั้น อันดับแรก ถ้าเกิดน้ำท่วมขึ้นในอำเภอหลังสวน อันดับแรกเราจะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ว่าได้เลย เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำและลึก ท่วมบ้าน 2 ชั้น อย่างนี้เราจะเข้าไม่ถึง เราก็จะมีการช่วยเหลือ เช่น การส่งข้าวห่อ การช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ก่อนมีการประสานงานช่วยเหลือกัน เพื่อให้ผ่อนคลายความเดือดร้อน และช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนให้ออกมาพ้นจากความเสี่ยงตรงนั้นก่อน”

สมาคมเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที โดยเครือข่ายนี้เป็นการรวมตัวกันของภาคีองค์กรภาคประชาชนหลายภาคี ไม่ว่าจะเป็นสภาองค์กรชุมชน และกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีสมาชิกครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแกนนำเครือข่ายอยู่ในพื้นที่ประสบภัยด้วย

 

 

โรงครัวอิ่มท้อง จากกองทุุนออมวันละบาท 

 

ศักดิ์โกศล ถาวรพร อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า จริงๆ เครือข่ายได้มีการเตรียมการกันตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว เมื่อมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ และเมื่อเริ่มคาดการณ์ปริมาณน้ำได้ ก็มีส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเฝ้าระวังภัยวิทยุสมัครเล่นจากพื้นที่ต้นน้ำว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ต้นน้ำวิกฤตแค่ไหน และจะส่งข่าวไปยังพื้นที่ด้านล่างเพื่อเตรียมรับมือ ส่วนในขณะที่เกิดเหตุ เครือข่ายก็ได้ตั้งจุดช่วยเหลือกันเป็นลักษณะพี่ช่วยน้อง พื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบก็จะส่งสิ่งของไปช่วย หรือไปตั้งจุดบริการคอยให้ความช่วยเหลือ เช่น โรงครัวฉุกเฉิน

“เราต้องช่วยตัวเราเองก่อน มองทุนทางสังคมที่เรามี มองภาคีที่เกี่ยวข้อง เชื่อมร้อยประสาน แล้วค่อยเชื่อมภาคีรัฐ อันนี้จะเกิดพลังที่สามารถที่จะรับมือได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเอง ก็อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยทุกปี ก็นำเรื่องราวในปีนี้ อันไหนเป็นข้อบกพร่อง เราก็นำสู่การเรียนรู้ในการที่จะทำในปีต่อไป”

ในส่วนของกองทุนที่นำมาใช้ ก็ได้มีการนำเรื่องการรับมือภัยพิบัติและสาธารณภัยมารวมเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการเบิกจ่ายกองทุนด้วย เพราะในกรณีฉุกเฉินอย่างเหตุภัยพิบัติ การเบิกจ่ายงบประมาณจะล่าช้าและไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหา

“ทุกวันนี้ หลายกองทุนก็พัฒนาสู่เรื่องนี้แล้ว ในระเบียบของกองทุนที่เน้นในเรื่องของการออมวันละบาท เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในระเบียบกองทุนเกือบจะทุกกองทุน ได้ตั้งระเบียบเกี่ยวกับเรื่องของการจัดการรับมือภัยพิบัติและสาธารณภัย โดยสมมุติว่าเกิดเหตุวันนี้ ถ้าโดยระบบราชการ จะต้องตั้งเบิกจ่ายอย่างน้อยครึ่งเดือน แต่ถ้าใช้ระบบการบริหารจัดการในกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นเงินออมของชาวบ้านวันละ 1 บาท เดือดร้อนวันนี้ก็แก้ไขวันนี้ได้เลย น้ำท่วมวันนี้ก็สามารถที่จะร่วมด้วยช่วยกันในการที่จะตั้งครัวฉุกเฉินขึ้นมาได้”

เรียบเรียงโดย ทีมข่าววาระทางสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง