สนช.ถกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว "หมวดพระมหากษัตริย์"

การเมือง
13 ม.ค. 60
08:32
846
Logo Thai PBS
สนช.ถกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว "หมวดพระมหากษัตริย์"
"พรเพชร" ระบุพิจารณาแบบเต็มสภา 3 วาระรวด แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหมวดพระพระมหากษัตริย์ ด้านพล.อ.ประยุทธ์ ระบุไม่สบายใจสื่อนำเสนอข่าว

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.วันนี้ (13ม.ค.2560) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวย้ำถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เสนอนั้น จะเป็นการพิจารณาแบบเต็มสภา หรือ 3 วาระรวด เพื่อเปิดทางให้มีกระบวนการแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามข้อสังเกตพระราชทาน

และถ้าย้อนกลับไปดู ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ หมวด  จะเห็นว่ามีด้วยกันรวม 24 มาตรา โดยตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยไว้นั้น มีข้อสังเกตพระราชทาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก้ไข 3 ถึง 4 ประเด็น โดย 1 ใน 24 มาตรานั้น สอดคล้องกับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นั่นคือการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์..หรือไม่ก็ได้

ถ้าย้อนกลับไปดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ หมวดพระมหากษัตริย์ จะมีด้วยกันรวม 24 มาตรา โดยหมวดนี้ จะเริ่มที่ มาตรา 6 และจากมาตรา 6 ถึงมาตรา 9 นั้น สาระสำคัญคือพระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดละเมิดมิได้ และเรื่องของพระราชอำนาจ ทั้งการสถาปนาและถอดถอน ฐานันดรศักดิ์ รวมถึงการพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยากรณ์

ขณะที่มาตรา 10 ถึง 14 นั้น สาระสำคัญว่าด้วยพระราชอำนาจ ในการเลือกและแต่งตั้งประธานองคมนตรี 1 คน และองคมนตรีไม่เกิน 18 คน รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามขององคมนตรี และการเข้ารับ หรือพ้นจากตำแหน่ง จากนั้นมาตราที่ 15 ถึง 19 จะว่าด้วยเรื่องของการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ

โดยเฉพาะมาตรา 16 ที่เขียนไว้ว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร์ หรือจะทรงบริหารราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ซึ่งมาตรานี้ จะเป็นมาตราเดียวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ที่ ครม.และ คสช. เสนอให้แก้ว่า "จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่ง...หรือไม่ก็ได้"

และนับจากมาตราที่20 ไปจนถึงมาตราที่ 24 สาระสำคัญคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสืบราชสมบัติ ซึ่งอ้างอิงถึงกฎมณเฑียรบาล และการเขียนรองรับ ทั้งกรณีที่ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาท หรือกรณีที่มิได้แต่งตั้งไว้ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่องคมนตรีต้องดำเนินการ

แต่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. โยกมาตรา 7 ที่เคยอยู่ในหมวดพระมหากษัติย์ไปไว้ที่มาตรา 5 ของหมวดทั่วไป ซึ่งเดิมเขียนไว้แค่ "ให้วินิจฉัยตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แต่ที่เขียนขึ้นใหม่ กลายเป็นกลไก ที่มีองค์ประชุมจากประมุขในแต่ละฝ่าย ร่วมวินิจฉัยแก้ปัญหา

 

 


ทั้งนี้การแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ จะเกิดขึ้นภายหลังจากการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ ซึ่งตามกระบวนการนั้น ครม.และคสช.ประสานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และเพื่อความรวดเร็ว สนช.กำหนดให้การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม..นั้นเป็นการพิจารณาแบบเต็มสภา หรือ 3 วาระรวดในวันนี้

จะเห็นว่าวิธีการประชุม สนช. ในวันนี้ น่าจะไม่มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นและเสนอแปรญัตติ หรือการแก้ไขในรายละเอียด แต่จะใช้วิธีการลงมติรับหลักการในวาระแรก กับการลงมติเห็นชอบ ในวาระที่ 3 ผ่านการขานชื่อลงคะแนนรายบุคคล และเมื่อแล้วเสร็จ..ก็จะถือว่าเสร็จสิ้น ในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ตามที่ประธาน สนช.กล่าวย้ำจะใช้วิธีการพิจารณาแบบเต็มสภา หรือ 3 วาระรวด


ประธานสนช. บอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ครั้งที่ 3 เป็นการเปิดทางให้รับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไปแล้ว กลับคืนมาแก้ไขตามข้อสังเกตพระราชทาน และจากรายละเอียดที่ได้รับการประสานจาก ครม.และ คสช. คือการแก้ร่างรัฐธรรมนูญเพียงแค่หมวดพระมหากษัตริย์ หมวดเดียวเท่านั้น


ขณะเดียวกันวานนี้(12 ม.ค) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวตำหนิการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ในประเด็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ในหมวดพระมหากษัตริย์ ว่า เห็นข่าวแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เพราะระบุว่า ทรงรับสั่งแก้ไข ทั่งที่เป็นกระบวนการทำงานที่แยกกัน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง