ติง "กรมชล" รับฟังความเห็นชาวบ้าน ก่อนเดินหน้าสร้างประตูระบายน้ำแก้น้ำท่วมนครฯ

สิ่งแวดล้อม
18 ม.ค. 60
16:47
384
Logo Thai PBS
ติง "กรมชล" รับฟังความเห็นชาวบ้าน ก่อนเดินหน้าสร้างประตูระบายน้ำแก้น้ำท่วมนครฯ
อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านอย่างรอบด้าน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เตือนระบายน้ำลงทะเล ส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและประชาชน หวั่นรีบเกินเหตุซ้ำเติมผู้ประสบภัย

จากกรณีที่กรมชลประทานเตรียมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งในระยะสั้น กลาง และระยาว ด้วยรูปแบบของการขยายสะพาน ปรับปรุงคลองธรรมชาติ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ และสร้างเขื่อนริมคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่ทะเล ซึ่งกรม ชลประทานได้ออกแบบโครงการเสร็จแล้วและเตรียมเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาและหากได้รับความร่วมมือจากประชาชนจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2561

วันนี้ (18 ม.ค.2560) นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวถึงโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ของกรมชลประทานซึ่งมีทั้งรูปแบบของการ ขยายสะพาน ปรับปรุงคลองธรรมชาติ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ ซึ่งเป็นมาตรการใช้สิ่งปลูกสร้างแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

"ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง หลายโครงการเป็นการปัดฝุ่นโครงการเดิม ซึ่งต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสม รวมถึงปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขทางกฎหมาย มิฉะนั้นการแก้ปัญหาหนึ่งก็จะนำไปสู่การเกิดปัญหาใหม่ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ระบายลงสู่ทะเลที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยอื่นๆ ค่อนข้างมากกว่าการปล่อยน้ำให้ไหลเสรีหรือการกักเก็บซึ่งต้องพิจารณาว่าอะไรที่คุ้มค่าเหมาะสมมากกว่ากัน ซึ่งต้องให้คนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้ด้วย" นายสุรจิต ระบุ

การสร้างประตูระบายน้ำจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะรายละเอียดของประตูระบายน้ำเนื่องจากประตูระบายน้ำที่ระบายน้ำลงสู่ทะเลมีเรื่องของอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง ขนาดของประตูระบายน้ำที่จะเป็นคอขวดหรือไม่ ระดับความลึกของตีนเขื่อน ซึ่งหากสร้างไม่เหมาะสมจนไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มที่และอาจทำให้เกิดตะกอนสะสมก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงกัดเซาะให้ตัวประตูระบายน้ำให้เสียหายได้

นอกจากนี้ยังรวมถึงเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศระบบความมั่นคงทางธรรมชาติ ควรรับฟังความเห็นจากประชาชนว่าจะแก้ไขด้วยว่าจะใช้การระบยน้ำด้วยวิธีธรรมชาติหรือต้องก่อสร้าง 

นายสุรจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทุกฝ่ายดำเนินด้วยความหวังดี แต่ควรทำอย่างละเอียดมากที่สุดทั้งการจัดทำ EIA และ EHIA ที่ต้องศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ ทางวิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน เพราะผลกระทบของการก่อสร้างอาจมีเรื่องของการเวนคืนที่ดิน หรือเรื่องที่ส่งผลกระทบยต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างมากแล้ว หากโครงการที่จะใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมมาสร้างผลกระทบให้อีกก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมประชาชน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง