สธฉ.แนะญาติฟ้องรถกระบะยื้อรถฉุกเฉิน รับคนป่วยไม่ทัน

สังคม
19 ม.ค. 60
20:00
2,534
Logo Thai PBS
สธฉ.แนะญาติฟ้องรถกระบะยื้อรถฉุกเฉิน รับคนป่วยไม่ทัน
สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) แนะญาติฟ้องเรียกค่าเสียหายรถกระบะคู่กรณีรถพยาบาล หลังยื้อให้รอประกัน ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจอาการอยู่ในภาวะวิกฤต ล่าช้า 14 นาที จนผู้ป่วยเสียชีวิต

วันนี้ (19 ม.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ญาติบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางมาที่วัดคงคา อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เพื่อร่วมพิธีสวดอภิธรรมศพนางชูศรี อ่อนสัมพันธ์ วัย 74 ปี ซึ่งเสียชีวิตระหว่างรอรถพยาบาล ที่บ้านใน ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ขณะที่ลูกสาวของผู้เสียชีวิต ไม่เชื่อว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับครอบครัวตัวเอง จึงไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้อีก

ไทยพีบีเอสได้ข้อมูลจากการพูดคุยกับญาติว่า นางชูศรีมีอาการหัวใจกำเริบ ประมาณช่วง 12.00 น. ของวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา จึงโทรขอความช่วยเหลือ จากสายด่วน 1669 ญาติประเมินว่ารถพยาบาลจากโรงพยาบาลบางบัวทอง น่าจะใช้เวลาเดินทางถึงบ้านประมาณ 5 นาที แต่ผ่านไปประมาณ 15 นาที รถยังมาไม่ถึง ญาติจึงโทรกลับไปที่สายด่วน 1669 อีกครั้ง

เจ้าหน้าที่แจ้งว่า รถกู้ชีพประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง จะส่งรถพยาบาลอีกคันไปช่วยเหลือ ผ่านไปอีกประมาณ 30 นาที หลังโทรแจ้งครั้งแรก รถพยาบาลจากโรงพยาบาลบางใหญ่มาถึงบ้าน เจ้าหน้าที่ช่วยปั๊มหัวใจ แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตนางชูศรีได้ ญาติเชื่อว่านางชูศรีเสียชีวิตก่อนรถกู้ชีพจะมาถึง

สอดคล้องกับข้อมูลจาก นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ยืนยันว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ ว่าไม่สามารถนำรถพยาบาลออกจากจุดเกิดเหตุได้ จึงปฏิบัติตามขั้นตอน คือ วิทยุแจ้งกลับศูนย์สั่งการ ให้ประสานรถพยาบาลคันใหม่จากโรงพยาบาลบางใหญ่

แม้ทุกนาทีในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รถพยาบาลฉุกเฉินจะเดิมพันด้วยชีวิตของผู้ป่วย แต่รองเลขาธิการ สพฉ. ยืนยันว่า รถพยาบาลไม่มีเอกสิทธิ์เหนือกฎหมาย ได้รับอนุญาตเพียงใช้สัญญาณไฟและเสียง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอทางเท่านั้น

ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ อนันกุล รองผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ระบุกับไทยพีบีเอสว่า กรณีนี้เสียเวลาไป 14 นาที ทำให้รถพยาบาลคันแรกไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ดังนั้นหากญาติสงสัยถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคู่กรณีได้ เพื่อให้นำไปสู่การตรวจสอบสาเหตุที่ชัดเจน

ส่วนนายตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เห็นว่าอาจเป็นไปได้ที่คู่กรณีของรถพยาบาลไม่มั่นใจในความรับผิดชอบ จึงขอให้รอเจ้าหน้าที่จากบริษัทประกันภัย และไม่ต้องการเสียประวัติการทำประกันภัย รวมถึงอารมณ์ขณะเจรจาอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ 2 ฝ่ายไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ หากต่างฝ่ายต่างมีความจำเป็นเพียง แค่มีหลักฐานเพื่อใช้ยืนยันกับบริษัทประกันภัยไม่ว่าประเภทใด ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลานานในที่เกิดเหตุ

สำหรับข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลในช่วงปี 2557-2559 พบว่า ลดลง โดยในปี 2557 เกิดขึ้น 61 ครั้ง เป็นรถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย 30 ครั้ง รถฉุกเฉิน 31 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 19 คน บาดเจ็บ 130 คน ล่าสุดในปี 2559 เกิดอุบัติเหตุ 45 ครั้ง เป็นรถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย 32 ครั้ง รถฉุกเฉิน 13 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บ 96 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง