โคราชแล้ง-เขื่อนลำตะคองน้ำเหลือน้อย-ขอชาวนางดทำนาปรัง

ภัยพิบัติ
23 ม.ค. 60
11:42
321
Logo Thai PBS
โคราชแล้ง-เขื่อนลำตะคองน้ำเหลือน้อย-ขอชาวนางดทำนาปรัง
สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 5 เขื่อน ที่จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงร้อย 43 ของความจุอ่าง ส่วนน้ำใช้การได้เหลือเพียงร้อยละ 40 ส่งผลให้ต้องงดทำนาปรังต่อเนื่อง

วันนี้ (23 ม.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกร ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา ต้องงดทำนาปรังต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจังหวัดขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง มีระดับเก็บกักอยู่ที่ 112 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่าง แต่น้ำใช้การได้เหลือเพียงร้อยละ 29 เท่านั้น

นายหลอด ผันสูงเนิน เกษตรกร ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทำนาปรังปีละ 10 ไร่ ได้ข้าวโดยเฉลี่ย 10 ตัน แต่ในช่วง 2-3 มา ไม่สามารถทำนาได้ และแม้ว่าจังหวัดจะรณรงค์ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย แต่ชาวนาบางส่วนก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะส่วนใหญ่ยังคงคุ้นชินกับการทำนาปรังในช่วงหน้าแล้ง

"ไม่ได้ทำนาปรัง 2 ปีแล้ว ปีนี้ทางการประกาศว่าถ้าคนไหนทำ บาป เขาไม่กล้าพูดลึก เกษตรกรอย่างเราก็ต้องหาอาชีพใหม่ " นายหลอด กล่าว

แม้ว่าปีที่แล้ว จ.นครราชสีมา มีฝนตกต่อเนื่องและปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย แต่กลับพบว่าฝนตกในพื้นที่ท้ายเขื่อน เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ต้องเปิด-ปิดประตูระบายเป็นเวลา โดยเฉพาะที่อาคารแบ่งน้ำละลมหม้อ พบว่ามีการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อผันน้ำจากลำตะคองลงสู่ลำบริบูรณ์ และบึงพุดซาเพียงไม่กี่บานเพราะส่วนหนึ่งต้องกักเก็บไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ท้ายเขื่อน คือ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ

นายอาทร โพธิกนิษฐ์ ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปีนี้เกษตรกรที่ไม่ได้ทำนา เข้าร่วมโครงการปลูกพืชน้ำน้อย

"ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง และหาพืชที่ใช้น้ำน้อยมาปลูกทดแทน ก่อนหน้านี้มีเกษตรเข้ามาประชุมชี้แจงโครงการ ว่าจะมีการสนับสนุนต้นทุนในการปลูกพืชน้ำน้อย สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ " นายอาทร กล่าว 

นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 ระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์ในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง คือ เขื่อนลำตะคอง ลำแชะ ลำมูลบน และลำปลายมาศ จะมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ร้อยละ 43 และน้ำใช้การได้มีเพียงร้อยละ 40 ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่ทางชลประทานมั่นใจว่า ในช่วงหน้าแล้งประชาชนจะยังมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคไปจนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในอำเภอ แต่ก็ต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรัง และหันมาปลูกพืช้น้ำน้อยแทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง