อย.เตรียมเสนอยกเลิกยา “โคลิสติน” ล้อมคอกใช้ในสุกร

สังคม
24 ม.ค. 60
09:48
4,451
Logo Thai PBS
อย.เตรียมเสนอยกเลิกยา “โคลิสติน” ล้อมคอกใช้ในสุกร
รัฐมนตรีสาธารณสุข กังวลเชื้อโรคดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะโคลิสตินในคนไปผสมให้สุกรกินแก้ท้องเสีย เตรียมส่งเข้าบอร์ด อย.เพื่อยกเลิกชนิดแบบกินภายในเดือนก.พ.นี้ ขณะที่ปศุสัตว์ มั่นใจเนื้อจากฟาร์มสุกรปลอดภัยเลี้ยงได้มาตรฐาน

จากกรณีมีการตรวจสอบพบว่าฟาร์มหมูใน จ.นครปฐม และจ.สุพรรณบุรี ใช้ยาโคลิสติน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียผสมในอาหารให้หมูกิน ซึ่งแม้ว่าจะไม้ได้ ทำให้มียาหรือสารตกค้างในเนื้อหมูในปริมาณที่พอจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็กังวลว่าจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้ 

วันนี้ (24ม.ค.2560) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ สุข จึงออกมาแสดงความกังวลว่า หากมีการใช้ยาชนิดนี้อย่างแพร่หลายและไม่ถูกต้อง จะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียมีการดื้อต่อยา จึงมีคำแนะนำให้ปศุสัตว์ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ ในการผสมในอาหารให้สัตว์กัน โดยหากสัตว์มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ยังจำเป็นต้องให้ยาโคลิสตินตามความจำเป็นภายใต้การแนะนำของสัตวแพทย์


ปัจจุบันยาโคลิสติน เป็นเพียงยาอันตรายที่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร โดยหลังจากนี้ องค์การอาหารและยา หรือ อย.เตรียมจะยกเลิกยาโคลิสตินแบบกินให้เหลือใช้เฉพาะแบบฉีดเท่านั้น เพื่อป้องกันการใช้อย่างพร่ำเพรื่อและนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยา โดยจะเสนอให้คณะกรรมการยาพิจารณาในการประชุมเดือน ก.พ.นี้

ขณะที่ น.สพ. วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรและค้าปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด กล่าวว่า ยากลุ่มโคลิสติน จะใช้ในลูกหมูอายุไม่เกิน 20 วันเท่า นั้น ไม่เหมาะที่จะใช้ในระยะยาวเนื่องจากราคาแพง และในระยะหลังผู้เลี้ยงหมูหันมาใช้พืชสมุนไพรไทยที่ต้นถูกกว่ายาจากประเทศกันมากขึ้น

เช่นเดียวกับสพ.ญ. วรรณี สันตมนัส ปศุสัตว์ จังหวัดราชบุรี ยืนยันว่า หมูในจ.ราชบุรีนั้นมีเกือบ 2 ล้าน จำนวนนี้ตัวร้อยละ 90 เป็นมาตรฐานฟาร์มทั้งหมด จึงอยากให้ผู้บริโภคได้มั่นใจว่าเนื้อหมูที่ออกจากราชบุรี นั้นได้มาตรฐาน

ขณะที่นายสุเมษ เมธศาสตร์ ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ได้เข้าสุ่มตรวจที่ฟาร์มสุกรในจังหวัด ที่ใช้สารแก้ท้องร่วงและสารเร่งเนื้อแดงในสุกร สามารถจับกุมได้ 30 ราย และทางปศุสัตว์ จ.นครปฐม ได้เข้าสุ่มตรวจที่ฟาร์มสุกร 1 สัปดาห์ต่อครั้ง ถ้าฟาร์มสุกรยังใช้สารต้องห้ามจะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมาพบสารที่ต้องห้ามในเนื้อสุกร เพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง