ผ่าสเป็คเรือดำน้ำชั้นหยวน เขี้ยวเล็บทัพเรือคุ้มครองน่านน้ำไทย

การเมือง
24 ม.ค. 60
19:07
1,813
Logo Thai PBS
ผ่าสเป็คเรือดำน้ำชั้นหยวน เขี้ยวเล็บทัพเรือคุ้มครองน่านน้ำไทย
การมีเรือดำน้ำเข้าประจำการเป็นความฝันสูงสุดของกองทัพเรือก็ว่าได้ ในทางยุทธวิธีมีเรือดำน้ำไม่กี่ลำ แต่สร้างความได้เปรียบได้มากกว่าเรือผิวน้ำหลายเท่า คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแล้วหลังจากกองทัพเรือเลือกเรือดำน้ำชั้นหยวนของประเทศจีน จัดซื้อลำแรก 13,500 ล้านบาท

อาวุธที่มองไม่เห็น ตรวจจับยาก ย่อมสร้างความยำเกรงให้กับฝ่ายตรงข้าม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เรือดำน้ำชั้นหยวน แบบ S26 T จากจีน ซึ่งเหนือกว่า ด้วยระบบ AIP หรือ AIR INDEPENDENT PROPULSION ที่สามารถปฏิบัติการใต้น้ำได้นานถึง 21 วันโอกาสที่จะถูกตรวจจับจึงยาก เมื่อเทียบกับเรือดำน้ำประเทศอื่นที่อยู่ในน้ำได้อย่างมาก 4-5 วันเท่านั้น โดยมีระวางขับน้ำ 2,600 ตัน และระบบอาวุธทำการได้ไกลกว่า 250 กิโลเมตร แต่ด้วยมูลค่าสูงถึง 13,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ถึงภัยสงครามที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามถึงความคุ้มค่า และความจำเป็น

 

 

ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือเคยชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ โดยย้ำถึงภารกิจสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี

ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ของอ่าวไทย ที่มีความกว้างถึง 200 ไมล์ทะเล หรือ 400 กิโลเมตร ขณะที่มีเรือเข้าออกเพื่อนำเข้า-ส่งออกสินค้า ถึงปีละ 15,000 ลำ อันเป็นเหตุผลที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีเรือดำน้ำเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพเรือ

 

 

แม้จะมีข้อเท็จจริงว่า ทั้งสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่างมีเรือดำน้ำประจำการ ขณะที่กองเรือดำน้ำไทยชุดแรกปลดประจำการไปตั้งแต่ปี 2494 อันเป็นเหตุผลที่ไทยจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำชุดใหม่ รวม 3 ลำ มาประจำการซึ่งเปรียบเป็นเหมือนรั้วทางทะเลของชาติ ซึ่งความคุ้มค่าอยู่ที่ผลหลังการประจำการแล้ว ซึ่งหลังขั้นตอนการจัดหาแล้วเสร็จ ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 ปี ในการต่อเรือ ก่อนที่ไทยจะมีเรือดำน้ำชุดที่ 2 เข้าประจำการลำแรกจากแผนการจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง