เปิดผลตรวจน้ำเสีย "คลองแสนแสบ" ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 70

สิ่งแวดล้อม
25 ม.ค. 60
15:05
2,702
Logo Thai PBS
เปิดผลตรวจน้ำเสีย "คลองแสนแสบ" ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 70
กรมควบคุมมลพิษ เปิดผลตรวจสอบน้ำเสียคลองแสนแสบ 21 เขต พบ 631 แหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย 62 แห่ง จากที่ตรวจเบื่องต้น 210 แห่ง ชงเสนอเก็บค่าน้ำเสียควบน้ำประปา เบื้องต้นคิด 0.43 บาทต่อลบ.ม.

วันนี้(25ม.ค.2560) กรมควบคุมมลพิษ จัดประชุมผู้ประกอบการร่วมกันคืนน้ำใสให้คลองแสนแสบ โดยเชิญผู้ประกอบการ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนชาวบ้านกว่า 150 คนเพื่อทำความเข้าใจในการเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการให้คลองแสนแสบสะอาดภายใน 2 ปี

เผยแนวคิดเก็บค่าน้ำเสียควบประปา

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ย้ำว่าตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบจะต้องดีขึ้นภายใน 2 ปีระหว่าง พ.ศ.2560-2561 โดยบูรณาการทั่งกระทรวงคมนาคม ทส. และผู้ประกอบการทั้งหมด เป้าหมายสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดน้ำเสียอย่างเข้มงวด ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 70 ในตอนนี้ ดังนั้น การทำงานครั้งนี้จะต้องไม่แผ่ว หรือทำไม่ต่อเนื่องเหมือนที่ผ่านมา

 

 

พล.อ.สุรศักดิ์ บอกด้วยว่า นอกจากนี้อาจต้องมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดเก็บรายได้ เพื่อจัดการน้ำเสียในรูปแบบการจัดเก็บค่าอนุรักษ์คุณภาพน้ำร่วมกับน้ำประปา เพื่อนำรายได้มาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชน ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นข้อเสนอที่ต้องหารือกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะในเขตกทม.ที่อาจนำร่องได้

 "โรงแรม" ริมคลองแสนแสบทิ้งน้ำเสียมากสุด

กรมควบคุมมลพิษ เปิดผลตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษริมคลองแสนแสบ ซึ่งครอบ คลุม 21 เขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีแหล่งกำเนิดน้ำเสียรวม 631 แห่ง ทั้งนี้จากการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ 7 ประเภทรวม 210 แห่ง ระหว่างเดือนต.ค.2558-เดือนม.ค.2560 โดย 3 อันดับแรกที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย คือ อาคารชุด ร้อยละ 44.73 โรงแรม ร้อยละ 35 และโรงพยาบาล ร้อยละ 20.18 หรือภาพรวมสามารถบำบัดน้ำเสียได้มาตรฐานร้อยละ 30 เท่านั้น แต่หากจำแนกผลตรวจสอบรายประเภทมีดังนี้ 

-โรงแรม 51 แห่ง น้ำเสียได้มาตรฐานแค่ 11 แห่ง ไม่ได้มาตรฐาน 40 แห่ง
-อาคารชุด 68 แห่งน้ำเสียได้มาตรฐาน 17 แห่ง ไม่ได้มาตรฐาน 51 แห่ง
-โรงพยาบาล 46 แห่ง น้ำเสียได้มาตรฐาน 23 แห่ง ไม่ได้มาตรฐาน 23 แห่ง
-ห้างสรรพสินค้า 28 แห่ง น้ำเสียได้มาตรฐาน 8 แห่ง ไม่ได้มาตรฐาน 20 แห่ง
-ตลาด 3 แห่ง (ไม่ได้มาตรฐานทั้งหมด)
-ร้านอาหาร 1 แห่ง (ได้มาตรฐาน)
-ที่ดินบ้านจัดสรร 13 แห่ง น้ำเสียได้มาตรฐาน 3 แห่ง ไม่ได้มาตรฐาน 10 แห่ง

 

 

เปิดโมเดลคิดค่าน้ำเสียพ่วงประปา จ่าย 0.43 บาทต่อลบ.ม.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) บอกว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดเก็บค่าอนุรักษ์คุณภาพน้ำร่วมกับน้ำประปา เพื่อนำรายได้มาใช้ประโยชน์นั้น มีการคิดรูปแบบออกมาแล้ว เบื้องต้นมี 4 กลุ่มที่จะต้องจ่ายค่าบำบัดนำเสียเพิ่ม เฉลี่ยที่อัตรา 0.43 บาทต่อลูกบาศก์เมตรต่อน้ำดิบที่สูบมาใช้

โดยค่าอนุรักษ์คุณภาพน้ำ ผู้จัดเก็บคือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำอัตราเฉลี่ยการใช้น้ำในปัจจุบันเฉลี่ย 270,319 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เฉลี่ย 0.43 บาท ต่อลูกบาศก์เมตรต่อน้ำดิบที่สูบมาใช้ จะได้เงินรายได้ประมาณ 116 ล้านบาท

ส่วนค่าน้ำประปา ผู้จ่ายและผู้จัดเก็บคือ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิ ภาค และท้องถิ่น และเอกชนปัจจุบันใช้น้ำ 12,269 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่ม 5,275 ล้านบาทต่อปี

 

 

กลุ่มที่ 3 เป็นการเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากระบบ 16 แห่ง ผู้ระบายน้ำเสียในพื้นที่บริการ จะต้องเป็นผู้จ่าย ส่วนผู้จัดเก็บคือ ท้องถิ่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) โดยคิดอัตรารายได้ค่าจัดเก็บจากระบบ 16 แห่ง คาดว่าจะมีรายได้จากส่วนนี้ 80.96 ล้านบาท

และกลุ่มสุดท้าย ค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผู้จัดเก็บคือด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งปี 2559 มีนักท่องเดินทางเข้ามาในปีนี้ 29.8 ล้านคน จะเก็บคนละ 50 บาท จะมีรายได้ 1,494 ล้านบาท

นายจตุพร บอกว่า ขณะที่ครัวเรือนทั่วประเทศมีระบบมิเตอร์น้ำประปาประมาณ 10 ล้านครัวเรือน จะมอนิเตอร์จากส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเป็นผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการจัดเก็บและรูปแบบการบำบัดขึ้นกับแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแนวคิดนี้ทาง กทม.มีการขานรับเบื้องต้นแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง