ยังไม่เก็บค่าขยะบ้าน 150 บาทต่อหลัง-รอ 2 เดือนกฎกระทรวงคลอด

สิ่งแวดล้อม
25 ม.ค. 60
17:24
4,719
Logo Thai PBS
ยังไม่เก็บค่าขยะบ้าน 150 บาทต่อหลัง-รอ 2 เดือนกฎกระทรวงคลอด
สัมภาษณ์ "นายจตุพร บุรุษพัฒน์" บทบาทของกรมควบคุมมลพิษ กับกฎหมายค่าเก็บขนขยะอัตราใหม่ รอลุ้นกระทรวงมหาดไทยอีก 60 วันหรือ 2 เดือนต้องคลอดกฎกระทรวงรองรับ จึงจะชัดเจนในอัตราจัดเก็บแต่ละพื้นที่

จากกรณีราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 16 ม.ค.2560 โดยมีการกำหนดอัตราค่าขนขยะกำหนดให้ทุกบ้านต้องจ่ายค่าเก็บขยะเฉลี่ย 150 บาทต่อเดือน สำหรับปริมาณขยะไม่เกิน 120 กิโลกรัม และค่ากำจัดอีกเดือนละ 200 บาท พร้อมกำหนดบทลงโทษชัดเจน "ไทยพีบีเอสออนไลน์" สัมภาษณ์นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เกี่ยวกับการรองรับและบทบาทของกรมควบคุมมลพิษต่อกฎหมายใหม่การจัดการขยะฉบับใหม่

หลังจากกฎหมายออกมาแล้ว เจ้าภาพคือใคร

เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มี “กระทรวงมหาดไทย” เป็นเจ้าภาพหลัก ในการดำเนินการตามเนื้อหาของกฎหมาย หลังจากนี้ต้องออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน รวมถึงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อให้คําแนะนําและกํากับการดําเนินการของราชการส่วนท้องถิ่นในการดําเนินโครงการ กรมควบคุมมลพิษจะอยู่ในส่วนนี้ร่วมกับผู้แทนจากรมอื่นๆ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยขณะนี้ยอมรับว่าต้องรอความชัดเจนจากมหาดไทย

เป้าหมายแก้กองขยะ 2,474 แห่ง

เนื่องจากประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยจากชุมชนจำนวนกว่า 27 ล้านตัน ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายฉบับใหม่ รัฐบาล คสช.ได้ทำโรดแมปขยะมาแล้ว ล่าสุดคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะในปี 2560 โดยตั้งเป้าลดขยะร้อยละ 5 ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายขยะที่กรมฯ จะต้องเป็นคณะกรรมการกลาง ช่วยดูเรื่องรูปแบบและโครงการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมให้กับหน่วยงานท้องถิ่น

“เราพบว่าในปีที่ผ่านมา มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยมากกว่า 2,801 แห่ง ในจำนวนนี้ 2,474 แห่ง หรือร้อยละ 88 ดำเนินการไม่ถูกต้อง แบ่งเป็นเทกอง 1,730 แห่ง ฝังกลบแบบไม่ถูกต้อง 16 แห่ง เตาเผาที่ไม่มีระบบบำบัดอากาศ 71 แห่ง และเผากลางแจ้ง 657 แห่ง และยังมีสถานที่กำจัดขยะอีก 23 แห่งที่เปิดดำเนินการไม่ได้ ทั้งถูกต่อต้านจากประชาชน และผิดกฎหมาย นี่จึงเป็นเป้าหมายแรกที่ต้องแก้ไขให้สำเร็จภายใต้กฎหมายใหม่”

“ปลดล็อก” ปัญหา-ลดขยะได้จริงหรือไม่

"ผมเชื่อว่าเมื่อมีกฎหมายออกมาเป็นเครื่องมือบังคับใช้ที่ชัดเจน แล้วให้อำนาจท้องถิ่นโดยตรงและเขาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ มีอัตราการจัดเก็บที่เป็นธรรมและนำค่าจัดเก็บไปใช้ในการแก้ปัญหาขยะที่ตกค้าง ประเทศไทยจะลดขยะได้มากอย่างแน่นอน ที่ผ่านมามันไม่เกิดขึ้นเพราะท้องถิ่นเองไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน ตอนนี้ขึ้นกับว่าข้อสรุปในแต่ละท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้จะมากำหนดราคากลางค่าจัดเก็บที่ประชาชนรับได้ ไม่ต้องแบกรับมาก"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง