ผู้นำเม็กซิโกประกาศยกเลิกแผนเยือนสหรัฐฯ หลังรัฐบาลทรัมพ์แนะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอีกร้อยละ 20

ต่างประเทศ
27 ม.ค. 60
12:09
236
Logo Thai PBS
ผู้นำเม็กซิโกประกาศยกเลิกแผนเยือนสหรัฐฯ หลังรัฐบาลทรัมพ์แนะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอีกร้อยละ 20
รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมพ์ แนะนำให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกอีกร้อยละ 20 เพื่อนำมาชำระเป็นค่าสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ ขณะที่ผู้นำเม็กซิโกประกาศยกเลิกแผนการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ สัปดาห์หน้าแล้ว

วันนี้ (27 ม.ค.2560) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายโดนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามอำนาจฝ่ายบริหารให้สร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างเม็กซิโกและสหัฐฯ ความยาวประมาณ 3,200 กิโลเมตร เมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) พร้อมกับประกาศว่าจะให้เม็กซิโกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้างกำแพง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 283,000 ล้านบาท

ขณะที่นายเอนริเก เปญา นิเอโต ประธานาธิบดีเม็กซิโก ออกมาตอบโต้ว่าเม็กซิโกรู้สึกเสียใจและไม่ยอมรับการตัดสินใจของทรัมพ์ และยืนยันว่าเม็กซิโกจะไม่ยอมจ่ายค่าสร้างกำแพงเป็นอันขาด ด้านทรัมพ์ก็ออกมาทวีตข้อความ ระบุว่า ถ้าเม็กซิโกไม่ยอมจ่ายค่าสร้างกำแพงที่จำเป็นต้องมี ก็ควรที่จะยกเลิกการประชุม

เมื่อผู้นำสหรัฐฯ บอกมาแบบนี้ ทางผู้นำเม็กซิโกก็ทวีตข้อตอบโต้ว่า เม็กซิโกได้แจ้งทำเนียบขาวแล้วว่า จะไม่ไปร่วมการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 ม.ค.นี้ พร้อมกับย้ำว่าเม็กซิโกยินดีที่จะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝ่าย

โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า แม้การประชุมร่วมทั้ง 2 ฝ่ายจะถูกยกเลิกครั้งนี้ แต่ในอนาคตยังสามารถจัดการนัดหมายกันขึ้นมาใหม่ได้อีก ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ จะไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่นัก นับตั้งแต่ทรัมพ์ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ

ขณะที่สื่ออเมริกันบางสำนักมองว่าความสัมพันธ์น่าจะร้าวฉานมากขึ้น เมื่อรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมพ์ แนะนำให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกอีกร้อยละ 20 เพื่อนำรายได้ส่วนนี้ มาใช้สร้างกำแพงกั้นระหว่าง 2 ประเทศ ขณะที่การสร้างกำแพงกั้นระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ รวมทั้งการส่งกลับผู้อพยพที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น ไม่เพียงแต่สร้างความกังวลต่อผู้อพยพ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บางคน ออกมาแสดงความกังวลว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีคนใหม่ อาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง

แกรี เบิร์ทเลส นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันบรุ๊คกิง ระบุว่า การสร้างกำแพงกั้นพรมแดน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำธุรกิจแข่งขันกับผู้อพยพที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย แต่สำหรับคนอื่นๆ อาจทำให้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจจำหน่ายพืชผัก ผลไม้ และธุรกิจบริการต่างๆ เช่น โรงแรมราคาถูก ที่ต้องพึ่งพาแรงงานอพยพราคาถูกที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย อาจต้องขึ้นราคาในที่สุด เพราะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน

แต่สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ผู้ผลิตเหล็ก และซีเมนต์ทั้งในสหรัฐฯ และเม็กซิโกน่าจะได้ประโยชน์จากการก่อสร้างกำแพงที่ยาวถึง 3,200 กิโลเมตร ซึ่งนับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมพ์ ชนะการเลือกตั้ง หุ้นในกลุ่มก่อสร้างบางตัวปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 เลยทีเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง