มท.เคาะตัวเลขเก็บขนขยะสูงสุด 102 บาทต่อเดือน

สังคม
27 ม.ค. 60
18:00
2,674
Logo Thai PBS
มท.เคาะตัวเลขเก็บขนขยะสูงสุด 102 บาทต่อเดือน
กระทรวงมหาดไทย เผยอัตราค่าจัดเก็บขยะตามกฎหมายใหม่ ไม่เกินเดือนละ 102 บาท จากตัวเลขที่กำหนด 150 บาท คาดเสนอ ครม.กลางเดือนมีนาคมนี้ ยอมรับใช้สูตรเฉลี่ยปริมาณขยะเป็นรายหัว ส่วนท้องถิ่น รอคลอดข้อบัญญัติ หวังอุดเม็ดเงิน 12,000 ล้านบาทต่อปีที่รับแบกภาระ

ความคืบหน้าภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเจ้าภาพหลักที่ต้องออกกฎกระทรวงรองรับตัวเลขค่าธรรมเนียมการเก็บขยะ และขั้นตอนทำงานหลังจากนี้ 

นายจรินทร์  บอกว่า  พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ คือ การกำหนดหน่วยงานที่เข้ามาบริหารจัดการขยะอย่างชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาขยะสะสม และขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จน “ขยะ” กลายเป็นหน้าที่ของส่วนราชการเท่านั้น 

อุดเงินภาระ 12,000 ล้านบาทที่รัฐต้องจ่าย

เขาบอกว่า ที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการขยะ แต่ปล่อยปละละเลยมาตลอด บางพื้นที่บริหารดี บางพื้นที่มีกองขยะสะสมมายาวนาน จนเกิดมลภาวะ ที่ผ่านมา อปท.เก็บค่าจัดเก็บขยะครัวเรือนละ 20 บาทต่อเดือน และยกเว้นการจัดเก็บบางพื้นที่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและบริหารจัดการขยะทั่วประเทศปีละกว่า 12,000 ล้านบาท หากมีการจัดเก็บอย่างเหมาะสมและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาจนำงบฯ 12,000 ล้านบาท ไปใช้ในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น การบริการผู้สูงอายุ

 

รัฐบาลจึงมีนโยบายในการบริการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้าลดขยะ ร้อยละ 5 ต่อปี พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะภายใน 1 ปี โดยกระทรวงมหาดไทย ได้เพิ่มเนื้อหา พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ให้หน้าที่หลักเป็นของ อปท.ทั่วประเทศ พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในลักษณะประชารัฐ

“กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ อปท.มีหน้าที่โดยตรง และต้องทำให้ถูกกฎระเบียบ ไม่ทิ้งกอง เทกอง หรือปล่อยให้ส่งกลิ่นเหม็น และน้ำเสีย รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันรักษาความสะอาด”

วัดปริมาณขยะต่อหัวเฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อวัน 

นายจรินทร์  กล่าวอีกว่า ขณะที่ค่าอัตราการจัดเก็บขยะและกำจัดขยะ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ อปท. มีรายได้ในการบริหารจัดการขยะ เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ ถังขยะ เครื่องมือ และการจ้างบุคลากรจัดเก็บ โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่สาธารณะที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน

จากการสำรวจและศึกษาข้อมูลเบื้องต้น พบว่าต้นทุนในการจัดเก็บและกำจัดขยะ อยู่ที่ครัวเรือนละ 102 บาทต่อเดือน โดย 1 คน จะผลิตขยะ 1 กิโลกรัมต่อวัน เฉลี่ยครอบครัวละ 4 คน รวมปริมาณขยะ 120 กิโลกรัมต่อเดือน แต่ใน พ.ร.บ.กำหนดค่าจัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 150 บาท เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น การขยายพื้นที่เมือง ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องมือที่ใช้งบประมาณสูง ส่วนกรณีของตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือคอนโดมิเนียม อาจเก็บเงินค่าจัดเก็บขยะเป็นครั้งคราวตามปริมาณขยะ โดยการชั่งตวงวัดปริมาณขยะ จะใช้เฉพาะการจัดเก็บเป็นรายครั้งคราวเท่านั้น

คาดชงเสนอคณะรัฐมนตรี กลางมี.ค.นี้ 

ส่วนครัวเรือนจะใช้เป็นการเฉลี่ยรายเดือนตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ไม่เกิน 102 บาทต่อเดือน เพราะหลังจากออกกฎกระทรวงแล้ว อปท.ต้องออกข้อบัญญัติในการปฏิบัติ หรือค่าจัดเก็บขยะ ซึ่งเป็นไปตามปริมาณขยะของแต่ละท้องถิ่น

นายจรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดได้เสนอกฎกระทรวงไปแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี คาดว่าออกมาใช้ทัน 15 มี.ค.นี้

สำหรับ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2560 กำหนดอัตราค่าขนขยะ โดยทุกบ้านต้องจ่ายค่าเก็บขยะเฉลี่ย 150 บาทต่อเดือน สำหรับปริมาณขยะไม่เกิน 120 กิโลกรัม และค่ากำจัดอีกเดือนละ 200 บาท ส่วนกรณีมีปริมาณมูลฝอยต่อเดือนเกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร และให้เก็บหน่วยละ 200 บาท พร้อมกำหนดบทลงโทษชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง