ถังดับเพลิงเก่า หรือชุมชนอ่อนซ้อมรับมือไฟไหม้ ?

อาชญากรรม
29 ม.ค. 60
20:16
4,073
Logo Thai PBS
ถังดับเพลิงเก่า หรือชุมชนอ่อนซ้อมรับมือไฟไหม้ ?
เหตุการณ์เพลิงไหม้ชุมชนย่านคลองเตย พบจุดอ่อนที่น่าสนใจและอาจใช้เป็นบทเรียนสำหรับชุมชนอื่นๆ คือการมีความรู้ในการดับเพลิง เพราะชุมชนแห่งนี้มีถังดับเพลิงที่ติดตั้งมานานกว่า 10 ปี แต่เมื่อถึงเวลาใช้งานจริงกลับใช้งานไม่ได้

เปลวไฟที่ลุกไหม้ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน1 ย่านคลองเตย เมื่อกลางดึกวันที่27 ม.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นจุดพลิกผันของคนในชุมชน หลายชีวิตอนาคตและความหวังดับไปพร้อมเปลวเพลิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจพบ ชาวบ้านหลายคนยังพยายามเข้าสำรวจความเสียหาย บริเวณที่เคยเป็นบ้านเพื่อหวังว่าจะยังมีสิ่งของที่พอใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

พร้อมกับคำถามที่ยังคาใจว่าทำไมพวกเขาไม่สามารถสกัดเพลิงตั้งแต่เริ่มต้นได้ แม้จะมีถังดับเพลิงติดตั้งไว้ทั่วชุมชน กว่า 10 ถัง แต่กลับใช้งานไม่ได้

 


สมนึก อนามนาถ ชาวชุมชนริมคลองวัดสะพาน หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ยืนยันว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุตัวเอง ได้พยายามหิ้วถังดับเพลิงเข้าที่เกิดเหตุ แต่เมื่อดึงสลักออก สารเคมีกลับไม่ไหลออกมา จึงจำเป็นต้องโยนเข้าไปในกองเพลิงเพื่อให้สารเคมีรั่วไหลเอง

เช่นเดียวกับ นายพนม เกิดเรณู พนม เกิดเรณู ชาวชุมชนริมคลองวัดสะพาน เป็นอีกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ และยืนยันว่าพยายามใช้ถังเคมีเข้าดับเพลิง แต่ใช้การไม่ได้ พร้อมเปิดเผยว่าถังดับเพลิงบางส่วนได้รับการบริจาคมานานแล้วกว่า 10 ปี และ ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานเข้ามาสอนวิธีการใช้

 



ขณะที่ พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา รักษาราชการแทน ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เปิดเผยว่า ปัญหาการใช้ถังสารเคมีดับเพลิง ในแต่ละชุมชุน และพื้นที่ ผู้ที่รับผิดชอบคือคนในชุมชนเอง และเจ้าหน้าที่เขตนั้นๆ และถังดับเพลิง แต่ละถังมีอายุการใช้งานที่ต่างกัน พร้อมยืนยัน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มีการให้ความรู้กับอาสาสมัครภายในชุมชนแห่งนี้แล้ว

เขายอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำลังจะเป็นบทเรียนที่ดีของชุมชนอื่นๆ ที่จะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกับภาครัฐ ในการพัฒนาความรู้เรื่องการป้องกันภัยต่างๆ ดังนั้น จึงได้กำชับให้สถานีดับเพลิง 1 สถานี ดูแลให้ความรู้ชาวบ้าน 2ชุมชน ซึ่งคาดว่าจะเป็นรูปแบบที่ชัดเจนภายในปี 2562

 



ส่วนขั้นตอนการเยียวยา เริ่มมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน เข้ามาช่วยเหลือเรื่องข้าวปลาอาหารแล้ว ส่วนประชาชนท่านใดที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนขอรับเงินค่าเยียวยา ก็สามารถเดินทางไปลงทะเบียนที่ สำนักงานเขตคลองเตยได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนตัวเลขผู้ประสงค์ขอรับเงินเยียวยา เบื้องต้นพบว่ามี ประชาชนกว่า 54 หลังคาเรือน 70 ครอบครัว ที่เดินทางมาลงทะเบียนแล้ว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง