เครือข่ายป่าชุมชน จี้ทบทวนกม.อุทยานฉบับสปท.

Logo Thai PBS
เครือข่ายป่าชุมชน จี้ทบทวนกม.อุทยานฉบับสปท.
เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ เตรียมออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหากฎหมายอุทยาน มาตรา 52 ห่วงลิดรอนสิทธิชุมชนในเขตป่า

จากกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. . .วันนี้ (2 ก.พ. 2560) ตัวแทนจากเครือข่ายป่าชุมชน ร่วมกันหารือในประเด็นนี้ เพราะมีข้อสังเกตว่าอาจเอื้อประโยชน์กับนาย ทุน และอาจะกระทบสิทธิชุมชนในเขตป่า

ดร.กฤษฎา บุญชัย รองเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนและสิทธิชุมชน กล่าวภายหลังหารือเรื่องการจัดการชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเห็นว่า มาตรา 52 ในร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ ที่กำหนดเงื่อนไขให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในป่าอนุรักษ์ได้ โดยพิจารณาในการลักษณะบุคคล หรือ โครงการภายใต้อำนาจ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่สามารถใช้ดุลยพินิจตามกฎหมายเพิกถอนและอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเขตป่าอนุรักษ์ต่อได้ตามเงื่อนไขนั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา คนและชุมชนที่อาศัยในป่าอนุรักษ์ที่ยั่งยืน


เนื่องจากหลักการและเงื่อนไขในร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ เป็นการพิจารณาแบบเหมารวมทั้งนาย ทุนที่บุกรุกป่าและชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับชุมชนดังเดิมที่อยู่ในเขตป่า ทำให้ที่ผ่านมาชุมชนในป่าอนุรักษ์ ไม่ได้รับการรับรองสิทธิในการอาศัยอยู่จากภาครัฐ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานฯ จึงเป็นเพียงเครื่องมือที่ภาครัฐนำมาใช้ลิดรอนสิทธิชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่ามากกว่าแก้ปัญหานายทุนที่บุกรุกป่าสร้างรีสอร์ท

“หลักการและเงื่อนไขที่ ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา เป็นเพียงการผ่อนผันให้อยู่อาศัยตามที่หน่วยงานรัฐเห็นชอบเท่านั้น แต่ชุมชนที่อยู่มานานก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ ก็ควรได้รับความชอบในการเป็นชุมชน และได้รับสิทธิในการอยู่อาศัย ในฐานะที่เขามีสิทธิที่จะอยู่ ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือคนยากจน เป็นรายบุคคล ” ดร.กฤษฎา ระบุ

รองเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ในเมื่อชุมชนที่อยู่มาก่อนมีสิทธิที่จะอยู่อาศัย รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการที่ส่งเสริมให้ชุมชนได้ดูแลรักษาป่า และอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย ในนามของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จึงออกแถลงการณ์ขอให้รับบาลทบทวน ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยขอให้กำหนดหลักการและเงื่อนไขให้ชัดเจนและเป็นธรรม คำนึงถึงสิทธิชุมชนและควรกำหนดรูปแบบการจัดการเขตอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการรักษาป่า

โดยหลังจากนี้ เครือข่ายป่าชุมชน และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม จะร่วมกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ และผลักดันในเรื่องของสิทธิชุมชนถูกนำมาเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยในการจัดการป่าอนุรักษ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง