กทม. "ไข้หวัดใหญ่" ระบาด ประเมินเดือน ก.พ.-มี.ค.ผู้ป่วยพุ่ง 13,000 ราย

สังคม
6 ก.พ. 60
17:36
3,720
Logo Thai PBS
กทม. "ไข้หวัดใหญ่" ระบาด ประเมินเดือน ก.พ.-มี.ค.ผู้ป่วยพุ่ง 13,000 ราย
โรงเรียนดัง กทม.ปิดหลังเจอเด็กนักเรียนป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A ด้านกระทรวงสาธารณสุขประเมินความเสี่ยงเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ คาดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่งเดือนละเฉียด 13,000 ราย ด้านนักไวรัสเด็กยันเป็นชนิด H3N2 หรือไข้หวัดสายพันธุ์ฮ่องกง ไม่กลายพันธ์ุ

จากกรณีโรงเรียนประถมศึกษาชื่อดังในเขตกรุงเทพมหานคร ประกาศปิดสถานศึกษา เนื่องจากมีนักเรียนป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก

วันนี้ (6 ก.พ.2560) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ถือเป็นตัว อย่างที่ดีของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่กับสำนักอนามัย กทม. ร่วมสอบสวนและควบคุมโรคในโรงเรียนนี้แล้ว พร้อมให้คำแนะนำมาตรการป้องกันโรคให้แก่คณะครูและผู้ปกครอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1-31 ม.ค.นี้ มีผู้ป่วย 4,875 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากในกลุ่มเด็กอายุแรกเกิด ถึง 14 ปี โดยคาดว่าในปี 2560 จะมีผู้ป่วยมากกว่า 300,000 ราย โดยเฉพาะเดือนก.พ.-มี.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณเดือนละ 13,000 ราย

พบ กทม.ระบาดในสถานศึกษาหลายแห่ง

นพ.นพ.ปิยะสกล กล่าวด้วยว่า สำหรับใน กทม.พบว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ กทม. ดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้นในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขอแนะนำประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะวิธีการป้องกันและควบคุมโรค 5 ข้อ ดังนี้ 1.มีระบบคัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน พิจารณาจากอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก หากพบให้แยกออก และใส่หน้ากากอนามัย แจ้งผู้ปกครองมารับเด็กกลับและให้พักฟื้นที่บ้าน 2.พิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ โดยพิจารณาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษา รวมถึงเครือข่ายผู้ปกครอง 3.สถานศึกษาทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงความจำเป็นที่จะให้ผู้ป่วยหยุดเรียน 4.จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ที่ห้องพยาบาล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวม และ 5.ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง 

ผู้เชี่ยวชาญไวรัส ชี้อย่าตระหนก-ยันไข้หวัดใหญ่ไม่กลายพันธุ์

ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H3N2 หรือไข้หวัดสายพันธุ์ฮ่องกง ยังเป็นภาวะปกติ ไม่มีการกลายพันธุ์ใดๆ โดยช่วงของการระบาดที่เกิดขึ้นจะมี 3 ช่วงใหญ่คือหน้าฝนเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. ซึ่งมักจะพบผู้ป่วยมากในช่วงนี้ ส่วนอีกช่วงคือหน้าหนาว ม.ค.-ก.พ. และจะหมดไปในช่วงเดือน มี.ค. เป็นพีคเล็กๆ โดยจะกลับมาเจอผู้ป่วยอีกรอบในเดือน  พ.ค. เนื่องจากประเทศไทยไม่ฤดูหนาวที่ชัดเจน ซึ่งการระบาดตอนนี้มีเพียงแค่ร้อยละ 10 ถ้าเทียบกับหน้าฝนจะมีสูงถึงร้อยละ 40 

กรณีข่าวการระบาดในพื้นที่ กทม.อาจเป็นเรื่องไม่ปกติ และบังเอิญระบาดในโรงเรียนดัง ซึ่งมีเด็กหลายรายที่มารักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นสายพันธุ์เดียวกัน คำแนะนำที่ดีคือการปิดโรงเรียน เพื่อทำความสะอาด และป้องกันเด็กที่ป่วยแพร่เชื้อสู่เพื่อนๆ ในโรงเรียน ซึ่งหลังจากนี้เมื่อเปิดเรียนแล้วมาตรการสำคัญคือต้องให้เด็กที่ป่วยใส่หน้ากากอนามัย

นพ.ยง กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเด็ก หรือผู้ใหญ่ บางคนฉีดวัคซีนแล้วยังเป็นไข้หวัดใหญ่นั้น ยอมรับว่าวัคซีนที่ป้องกันมีประสิทธิภาพแค่ร้อยละ 60 และจะลดประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก และเดือนที่ควรรับวัคซีนมากที่สุดคือก่อนฤดูฝน หรือก่อนเปิดเทอมแรกของเดือน พ.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง