เที่ยว "วัดถ้ำพระโพธิสัตว์" จ.สระบุรี ชมภาพสลักยุคทวารวดีในวงล้อมเหมืองหิน

ภูมิภาค
7 ก.พ. 60
12:30
12,312
Logo Thai PBS
เที่ยว "วัดถ้ำพระโพธิสัตว์" จ.สระบุรี ชมภาพสลักยุคทวารวดีในวงล้อมเหมืองหิน
"วัดถ้ำพระโพธิสัตว์" ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนกรุงเทพฯ ที่มองหาสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนใกล้ๆ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ขับรถใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่าๆ ก็จะได้พบกับถ้ำซึ่งมีภาพสลักเก่าแก่อายุกว่า 1,000 ปี

เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลการเดินทางไปวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ไว้ว่า "จากถนนมิตรภาพมุ่งหน้าไปทางโคราช ถึงโรงปูนนนครหลวงนกอินทรี กลับรถบนสะพาน จากสะพานกลับรถถึงทางแยกระยะทางประมาณ 3 กม. จะเห็นป้ายวัดถ้ำดาวเขาแก้ว ตรงสะพานลอยคนข้ามเลี้ยวซ้ายเข้าไปถึงทางแยกมีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายไปวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ จากทางแยกไปอีกประมาณ 6.5 กม."

ด้วยความที่บริเวณนี้มีการระเบิดภูเขาและเป็นที่ตั้งของโรงงานปูนซีเมนต์หลายแห่ง นักเดินทางจึงรู้สึกว่าจุดนี้ไม่น่ารื่นรมย์นัก แต่หากขับรถหลบออกจากทางสายหลัก เลี้ยวเข้าไปที่วัดถ้ำพระโพธิสัตว์แล้วจะพบว่าที่นี่เป็นเหมือนโอเอซิส มีต้นไม้ร่มรื่น ลำธารสายเล็กๆ ยังมีน้ำไหลเอื่อยๆ แม้น้ำจะไม่ใสและมีปริมาณน้อยลงมากกว่าแต่ก่อน เพราะพื้นที่ป่าโดยรอบถูกทำลายไปจากการระเบิดหิน

เดิมทีวัดถ้ำพระโพธิสัตว์เป็นสำนักสงฆ์ ก่อนจะได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปี 2522 วัดอยู่ติดกับ "เขาน้ำพุ" ซึ่งมีถ้ำอยู่หลายแห่ง เช่น ถ้ำพระโพธิสัตว์ ถ้ำพระธรรมทัศน์ ถ้ำลุมพินีสวนหิน และถ้ำสงัดเจดีย์

ก่อนขึ้นเขามีจุดที่เป็นตาน้ำซึ่งทางวัดระบุว่าเป็นต้นกำเนิด "น้ำตก จ.ป.ร." มีพระนามย่อ จ.ป.ร. ร.ศ.๑๑๕ สลักไว้ที่หิน ประวัติบอกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสต้น ณ จุดนี้ และทรงจารึกพระนามย่อ จ.ป.ร.ไว้

 

 

เลยจากจุดนี้ไป มีบันไดขึ้นเขาเพื่อไปชมถ้ำ ทางค่อนข้างสูงชัน ระหว่างทางหยุดพักมองเห็นวิวภูเขาน้อยใหญ่ คนที่เคยมาวัดนี้เป็นประจำให้ข้อมูลว่าในอดีตเมื่อมองไปจะเห็นแต่เทือกเขาเขียวขจี แต่บัดนี้ เขาหลายลูกหายไปแล้วหรือกำลังหายไปจากการระเบิดหิน

ถ้ำแรกที่เจอคือถ้ำธรรมทัศน์ ซึ่งต้องเข้าไปลึกจึงต้องมีผู้นำทางและมีอุปกรณ์ส่องสว่างให้ครบ เดินต่อมาอีกสักพักก็จะเจอถ้ำที่สำคัญที่สุดบนเขาน้ำพุ คือ ถ้ำพระโพธิสัตว์ ประกอบด้วยคูหาน้อยใหญ่ 6 คูหา คูหาหลักที่อยู่ปากทางเข้าถ้ำปรากฏภาพสลักนูนต่ำซึ่งเป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 13-14) อยู่บนผนังถ้ำด้านบนทางซ้ายมือ

กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนถ้ำพระโพธิสัตว์ซึ่งมีภาพสลักนูนต่ำนี้เป็นโบราณสถานเมื่อปี 2508

เว็บไซต์มติชนรายงานถึงความสำคัญและปริศนาเบื้องหลังภาพสลักนูนต่ำนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ภาพสลักชิ้นนี้เป็นหนึ่งในภาพที่ถูกใช้ในการสอนนักศึกษาคณะโบราณคดีสืบมาทุกรุ่น เพราะเป็นตัวอย่างศิลปกรรมล้ำค่า ทั้งยังมีปริศนาที่ยังคลายไม่ออกมาถึงทุกวันนี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร วิเคราะห์ว่าภาพสลักนูนต่ำนี้น่าจะเป็นภาพของพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 2 องค์คือพระศิวะและพระนารายณ์ ที่สำคัญ คือเป็นภาพสลักที่มีพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าในศาสนาฮินดูอยู่ร่วมกันที่เก่าแก่ที่สุดในไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นหลักฐานที่ทำให้ทราบว่าผู้คนในยุคทวารวดีมีการใช้ถ้ำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

นอกจากภาพสลักโบราณแล้ว ถ้ำพระโพธิสัตว์ยังมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม มีทางเดินเชื่อมระหว่างคูหาต่างๆ ในถ้ำพอให้ได้กลิ่นอายของการผจญภัยเล็กๆ เจือกับบรรยากาศสงบศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากมีเจดีย์ ศิลาจารึกหัวใจพระพุทธศาสนา พระพุทธรูป ตลอดจนกลดของพระสงฆ์อยู่ตามจุดต่างๆ ภายในถ้ำ

 

การคืบคลานของสัมปทานระเบิดหิน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนในแวดวงโบราณคดี คนท้องถิ่น ตลอดจนญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ต่างเป็นกังวลถึงผลกระทบจากการระเบิดหินในบริเวณใกล้เคียงที่คืบคลานเข้ามาใกล้วัดและโบราณสถานล้ำค่านี้เข้ามาทุกขณะ แม้แต่กรมศิลปากรเองก็กังวลไม่น้อย 

เดือนมกราคม 2535 นายนิคม มูสิกะคามะ รักษาการอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีระบุว่า

"ภาพจำหลักศิลปแบบสมัยทวารวดีที่ติดอยู่ที่ผนังภายในถ้ำเขาน้ำพุนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ควรที่จะอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป แม้ว่ากรมศิลปากรได้ประกาศขอบเขตของโบราณสถานแห่งนี้ไว้แล้ว แต่ผลกระทบจากการระเบิดหินในบริเวณใกล้เคียงจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โบราณสถานได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อโบราณสถานแห่งนี้ในอนาคต กรมศิลปากรประสงค์จะขอให้กรมทรัพยากรธรณีระงับและงดการอนุญาตให้สัมปทานบัตรการทำเหมืองแร่โดยรัศมีห่างจากถ้ำเขาน้ำพุ 2 กิโลเมตร"

พระครูวิสาลปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ กล่าวในรายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอสเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2560 ว่าหนังสือของกรมศิลปากรที่ทำขึ้นตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน ทำให้ทางวัดและผู้ห่วงใยโบราณสถานทั้งหลายคลายความกังวลลงไปได้บ้างเพราะเชื่อว่าถ้ำศักดิ์สิทธิ์จะได้รับการปกป้องจากการระเบิดหินอย่างน้อยในระยะ 2 กิโลเมตร โดยที่ไม่เคยล่วงรู้เลยว่า ในปี 2539 และ 2545 ได้มีการอนุมัติประทานบัตรเหมืองหินให้แก่บริษัทเอกชน โดยมีสองแปลงที่อยู่ห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์เพียง 950 เมตรเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กรมศิลปากรระบุว่าไม่ควรมีการระเบิดหินในระยะ 2 กิโลเมตรจากถ้ำ

 

"หลวงพ่อต่อต้านมาตั้งแต่ปี 2533 เพิ่งมารู้ว่ามีการให้ประทานบัตรเข้ามามากกว่า 2 กม. เมื่อปลายปี 2559 ตอนนี้แปลงประทานบัตรที่ห่างออกไปแค่ 950 เมตรเท่านั้น เท่ากับว่าปกปิดทางวัดมาตลอด อาตมาไม่ยอม ถึงไหนถึงกัน เราต่อสู้มาตั้ง 20 กว่าปี ถ้ารู้เรื่องนี้เราออกมาคัดค้านตั้งแต่แรกแล้ว" เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์กล่าวในรายการสถานีประชาชน

นอกจากความเสี่ยงที่จะทำให้โบราณสถานเสียหายแล้ว ทางวัดและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงยังได้รับผลกระทบจากฝุ่น เสียงและแรงสั่นสะเทือนจากแรงระเบิด ถึงขนาดที่เคยมีหินก้อนใหญ่กลิ้งลงมาที่วัด รวมทั้งลิงหลายร้อยตัวที่หนีการระเบิดหินในป่าลงมาอยู่ที่วัด สร้างความเดือดร้อนให้พระและญาติโยมที่มาทำบุญ-ปฏิบัติธรรม

ขณะที่นายประทีป เพ็งตะโก ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้รับผิดชอบพื้นที่กล่าวย้ำว่า ถ้ำแห่งนี้มีความสำคัญมากโดยเฉพาะภาพสลักนูนต่ำ

"ตัวถ้ำเองก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จริงๆ แล้วเขาทั้งลูกถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ควรจะต้องได้รับความคุ้มครอง"

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ระบุว่าได้รับทราบถึงความกังวลต่อผลกระทบจากการระเบิดหินแล้ว จึงได้แจ้งให้บริษัททีพีไอโพลีน ผู้ได้รับประทานบัตรทำเหมืองหินแปลงที่อยู่ในบริเวณนี้หยุดการขยายการทำเหมืองไว้ก่อน รวมทั้งควบคุมการใช้วัตถุระเบิดที่มีความรุนแรงเกินกว่าที่กำหนด

ล่าสุดเจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2560 ว่าได้รับหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการระเบิดหิน โดยมีตัวแทนของทางวัดร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้มีการนัดประชุม ขณะที่นางวิภาดา ชูพงศ์ รองประธานคณะกรรมการวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ยืนยันว่าต้องการให้หน่วยงานรัฐยกเลิกประทานบัตรเหมืองหินแปลงที่อยู่ใกล้ถ้ำพระโพธิสัตว์เพื่อให้เป็นไปตามความเห็นของกรมศิลปากรที่ระบุว่าเหมืองหินจะต้องอยู่ห่างจากถ้ำอย่างน้อย 2 กม.

 

กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ชมย้อนหลังรายการสถานีประชาชนวันที่ 27 ม.ค.2560 ตอน ผลกระทบระเบิดหิน อ.แก่งคอย (เริ่มตั้งแต่นาทีที่ 35)

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง