พบสารตะกั่วในเด็กชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์

ภูมิภาค
7 ก.พ. 60
13:03
1,729
Logo Thai PBS
พบสารตะกั่วในเด็กชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์
สถิติซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ปี 2559 มีสูงถึง 300,000 ตัน มูลค่าของโลหะในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้หลายชุมชนยึดอาชีพแกะแยกขยะเหล่านี้เป็นอาชีพหลัก จนเกิดปัญหาสารโลหะหนักตกค้างในสภาพแวดล้อมและในร่างกาย ขณะนี้พบเด็กมีสารตะกั่วตกค้างในเลือด

2 ปีมาแล้วที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองบัว ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ตรวจพบว่าเด็กหญิงวัย 5 ขวบคนนี้มีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือด 13 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่ามาตรฐานสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุไม่เกิน 5 ขวบที่โรงพยาบาลกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร

คำแนะนำให้ครอบครัวดูแลเด็กหญิงให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ให้คลุกคลีใกล้ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะบ้านก็คือพื้นที่ทำงานแกะแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ของครอบครัว

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองบัว และ สาธารณสุขอำเภอฆ้องชัย สุ่มตรวจเลือดชาวบ้านในเขตตำบลโคกสะอาดเมื่อปี 2556 และ 2557 แบ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน และ กลุ่มสตรีมีครรภ์รวม 89 คน กลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ รวม 129 คน

ผลปรากฎว่า พบผู้ใหญ่ 3 คนมีค่าตะกั่วในเลือดสูงและอยู่ในภาวะเสี่ยงต่ออันตราย ส่วนกลุ่มเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบ พบว่า 21 คนมีค่าตะกั่วในเลือดสูงและอยู่ในภาวะเสี่ยง แต่มีเพียง 1 คนที่มีค่าตะกั่วในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐานที่โรงพยาบาลกำหนด นั่นก็คือ เด็กหญิงคนนี้


ครอบครัวของเด็กที่มีค่าตะกั่วในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐาน เป็น 1 ใน 244 ครัวเรือนในตำบลโคกสะอาด ที่ยึดอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ จาทั้งหมด 1,826 ครัวเรือน 12 หมู่บ้านและยังต้องยึดอาชีพนี้ต่อไป

สมคิด จอมคำสิงห์  บอกว่า ตรวจเลือกครั้งแรกก็เจอสารตะกั่ว หมอให้ยามากิน ตอนแรกก็ตกใจ หมอบอกให้เอาเสื้อผ้าไปไว้ให้ห่างจุดแกะขยะ เสื้อผ้าก็ผึ่งไว้ทำตามที่เขาสั่ง ไปตรวจครั้งสุดท้ายก็ไมเจอสารตะกั่วแล้ว เขาไม่ให้ลกไปเล่นใกล้ที่แกะขยะ ลูกก้ไม่ไปใกล้นะ

ทุกเดือนขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 767 ตันจะถูกนำเข้ามาที่ตำบลโคกสะอาด เพื่อถอดรื้อ แยกโลหะมีค่าออกจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

บ้านแต่ละหลังในพื้นที่จึงอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน เพราะเต็มไปด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รอการคัดแยก จอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ รวมถึงแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ชาวบ้านนำมาแกะแยก มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ

การศึกษาผลกระทบของสารตะกั่วต่อพัฒนาการของเด็กในหลายประเทศพบว่าเด็กที่มีระดับตะกั่วในเลือดต่ำกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยทางกาย แต่หากตรวจสอบอย่างละเอียด อาจพบว่าเด็กบางคนมีพัฒนาการทางสมองช้าไอคิวต่ำลง หากมีสารตะกั่วในปริมาณมากไปกว่านี้ จึงจะเริ่มเห็นอาการโรคต่างๆ ชัดเจนขึ้น

 

มีข้อมูลว่าการรักษามักเป็นไปตามอาการป่วยที่แสดงออกมา แต่วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการปัองกันไม่ให้สารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย เศษซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีมูลค่าใดๆ แล้ว ถูกนำไปทิ้งที่บ่อขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด เนื้อที่ 43 ไร่ปะปนไปกับขยะมูลฝอยจากครัวเรือน

มีผลการวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ระบุตรงกันว่า ในรัศมี 500 เมตร รอบบ่อขยะ มีสารโลหะหนักเช่น ตะกั่ว แคดเมียม รวมถึงสารพิษอื่นๆ ตกค้างในปริมาณมาก

ไม่เฉพาะที่ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่ประสบปัญหาสารโลหะหนักตกค้างในสภาพแวดล้อม และในร่างกายแต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่พบปัญหาไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดบุรีรัมย์ หรืออุบลราชธานี แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ก็มีการตรวจพบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีสารตะกั่วในเลือดปริมาณสูงเช่นกัน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง