"ทีโอที" เดินหน้าทำ 4G คลื่น 2300 MHz ชวนค่ายมือถือเสนอแผนธุรกิจ-ผลตอบแทน

เศรษฐกิจ
7 ก.พ. 60
16:14
777
Logo Thai PBS
"ทีโอที" เดินหน้าทำ 4G คลื่น 2300 MHz ชวนค่ายมือถือเสนอแผนธุรกิจ-ผลตอบแทน
ทีโอที เดินหน้าทำ 4G คลื่น 2300 MHz ประกาศเชิญชวนค่ายมือถือ รับเอกสารเสนอแผนธุรกิจ-ผลตอบแทนระหว่างวันที่ 10-15 ก.พ.2560 แทนการประมูล

วันนี้ (7 ก.พ.2560) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่แจ้งวัฒนะ นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) พร้อมบริษัทที่ปรึกษา แถลงข่าวการเดินหน้าแผนธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายคลื่น 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ใช้กับเทคโนโลยี 4G ได้ โดยจะประกาศเชิญชวนโอเปอเรเตอร์ เวนเดอร์ และผู้สนใจที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้า เข้ารับรายละเอียดเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) ในการเป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจ รายละเอียดการขยายโครงข่ายและผลตอบแทนที่จะให้กับทีโอที ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 9.00 – 16.00 น. ที่ ห้องประชุม 6 ชั้น 12 อาคาร 9

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า ตามแผนการดำเนินธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ของ ทีโอที เพื่อเพิ่มมูลค่ากิจการ และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้กับ ทีโอที ด้วยการสรรหาคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ช่วง 2310-2370 MHz ที่ ทีโอที ได้รับสิทธิการใช้คลื่นจำนวน 60 MHz โดยขณะนี้ ทีโอที และบริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด และบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดทำร่างรายละเอียดและเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (RFP) และเชิญผู้สนใจเข้ารับฟังแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ไปแล้ว เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2560

สำหรับขั้นตอนต่อไป ทีโอที จะประกาศเชิญชวนคู่ค้าที่สนใจเข้ารับรายละเอียดการยื่นข้อเสนอ (RFP) โดยผู้มีอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทสามารถเข้ารับเอกสารฯ ได้ ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อให้แต่ละบริษัทได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจ รายละเอียดการขยายโครงข่ายและผลตอบแทนที่จะให้กับทีโอที โดยการเปิดรับคู่ค้าธุรกิจจะเปิดกว้างรับข้อเสนอเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันได้หลากหลายขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของแต่ละบริษัทที่เสนอมา คาดว่าจะสามารถพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าพันธมิตรที่เสนอเงื่อนไขและผลแทนที่ดีที่สุดกับ ทีโอที ภายใน 60 วัน

นายรังสรรค์ กล่าวว่า ภายหลังการคัดเลือกคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งเสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดได้แล้ว ตามแผนธุรกิจคู่ค้าจะเป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4G/LTE ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 MHz เต็มทั้ง 60 MHz โดยมีเป้าหมายในการวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่สามารถรองรับลูกค้า โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้งและเปิดให้บริการภายในปีแรกไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญภายใน 2 ปี จากนั้น จะเพิ่มจำนวนไปตามประมาณการผู้ใช้งานที่คาดการณ์ไว้

สำหรับรูปแบบการให้บริการนั้น ทีโอที จะนำความจุไปให้บริการ บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) 20% ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมือง และพื้นที่ห่างไกลเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐในการให้ประชาชนคนไทยทุกภาคได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิดธ์ทั้ง 60 MHz ของคลื่น 2300 MHz บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) 20% เป้าหมายคือกลุ่มลูกค้าทีโอที โดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมืองผ่านอุปกรณ์ดองเกิล (Dongle) สำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิม และบริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบาย จำนวน 60%

สำหรับบริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุญาตให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ช่วง 2310-2370 MHz เพื่อให้บริการด้านเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ โดยสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ (Neutral Technology) ตามข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-R Recommendation) มาให้บริการประเภท Fixed Wireless Broadband และประเภท Mobile Broadband และใช้งานได้ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ทีโอที ได้มีมติเห็นชอบ รวมถึงเห็นชอบให้ที่ปรึกษา ทำการศึกษารูปแบบและแนวทางการดำเนินธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ของ ทีโอที เพื่อเพิ่มมูลค่ากิจการให้แก่ บมจ.ทีโอที และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่องค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้กับ ทีโอที และสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 และสนับสนุนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง