พระราชพิธีสถาปนา "สมเด็จพระสังฆราช"องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สังคม
12 ก.พ. 60
20:05
9,940
Logo Thai PBS
พระราชพิธีสถาปนา "สมเด็จพระสังฆราช"องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันนี้ (12 ก.พ.2560) เมื่อเวลา 18. 34 น.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง  

เมื่อเสด็จเข้าพระอุโบสถแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงประเคนผ้าไตรแด่พระสงฆ์ ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะ ถวายศีลจบแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระราชโองการสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20


จากนั้น สมเด็จพระราชาคณะนำสวดคาถา "สงฆราชฏฺฐปนานุโมทนา" แล้วพระสงฆ์ กรรมการมหาเถรสมาคม นำสวด "โส อตฺถลทโธ" แล้วสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับที่อาสน์สงฆ์ พร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคม ท่ามกลางสังฆมณฑล มีเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัด


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ แด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และถวายพระสุพรรณบัฏ พระตราตำแหน่ง พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถา โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลา แกว่งบัณเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระสงฆ์ตามพระอารามทั่วราชอาณาจักร ซึ่งชุมนุมในพระอุโบสถเจริญชัยมงคลคาถาและย่ำระฆัง

 

 

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องสมณศักดิ์ แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ในสังฆมณฑลตามลำดับแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จบแล้ว

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับ ณ อาสน์สงฆ์กลางพระอุโบสถ พระมหาเถระฝ่ายคณะธรรมยุตและฝ่ายมหานิกาย สมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ถวายเครื่องสักการะ แด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แล้ว สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จออกจาก พระอุโบสถทางพระทวารกลาง ทรงรับเครื่องสักการะของบรรพชิตญวนและจีน  

 

ความหมายพระนาม "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ"

สำหรับพระนามเต็มของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช” นั้น ในหนังสือพระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 

 

ซึ่งคณะสงฆ์วัดราชบพิธฯ จัดพิมพ์ถวาย ระบุความหมายไว้ว่า “สมเด็จพระผู้มีญาณสืบมาแต่วงศ์พระอริยเจ้า ทรงเป็นผู้มีธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง ทรงเป็นอาจารย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือ พระไตรปิฎก ปรากฏพระนามฉายาในทางสงฆ์ว่า อมฺพโร ทรงงดงามในพระศาสนาด้วยทรงพระปรีชากว้างขวางในพระอุดมปาพจน์ คือพระธรรมวินัย ทรงดำรงพระเกียรติโดยปราศจากมลทิน และทรงเป็นครู


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาด้วยเหตุที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส ทรงเป็นที่พึ่งผู้แกล้วกล้าและมีพระปรีชาฉลาดเฉลียว ทรงเป็นผู้ยังความเจริญแก่กิจการพระธรรมทูต ทรงเป็นใหญ่ในสงฆ์ทั้งปวง (คือทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช) พระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในรัชกาลที่ 10 ทรงยังแสงสว่างแห่งแบบอย่างอันดีงามให้บังเกิด


โดยเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท ทรงงดงามในพระวิปัสสนาธุระ ทรงพระศีลาจารวัตรอันไพบูลย์ ทรงเป็นอนุศิษย์ผู้สืบวงศ์สมณะมาแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นเจ้าผู้เจริญในทางธรรม ทรงเป็นราชาแห่งหมู่สงฆ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง