คุมเข้มร้านแลกเงินป้องกันช่องทางฟอกเงิน

เศรษฐกิจ
13 ก.พ. 60
19:17
5,640
Logo Thai PBS
คุมเข้มร้านแลกเงินป้องกันช่องทางฟอกเงิน
ธ.ป.ท.เริ่มใช้มาตรการตรวจสอบ ป้องกันการฟอกเงิน โดยผู้ที่แลกเงินกับร้านแลกเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต้องรายงานข้อมูลไปยัง ธ.ป.ท. โดยผู้ประกอบการหลายรายเห็นด้วย และเริ่มปฏิเสธการรับแลกเงินที่สังเกตพบความผิดปกติ

ร้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ติดประกาศให้ผู้ที่จะมาเเลกเปลี่ยนเงิน จะต้องแสดงหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอร์ต หรือ ประจำตัวประชาชน เพื่อแสดงตัวตนก่อนใช้บริการ

นายจรินทร์ กริตยกวินวงศ์ ผู้ประกอบการร้านรับแลกเงิน หจก.หาดใหญ่ เจอาร์ทัวร์ อำเภอหาดใหญ่ เผยว่า ลูกค้าที่มาแลกเงินเป็นนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เเต่ะละรายแลกเงินต่อครั้งไม่มากนัก แต่หากรายใดที่แลกเงินมากเกินกว่าที่ ธนาคารเเห่งประเทศไทยกำหนด ก็ต้องทำตามเงื่อนไข เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันรายใดที่นำเงินสกุลต่างชาติมาแลกในจำนวนมากผิดปกติ ทางร้านก็จะไม่รับแลกเงิน พร้อมต้องชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจ แม้การรับแลกเงินจำนวนมากจะสามารถทำกำไรให้ทางร้านได้สูง แต่ก็ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงหากไปพัวพันกับกลุ่มมิจฉาชีพ จึงพยายามที่จะตรวจสอบเบื้องต้นก่อนให้บริการ

"ส่วนใหญ่กลุ่มที่ทำไม่ถูกกฎหมายจะปฏิเสธที่จะให้เอกสาร ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน หรือ พาสปอร์ต เคขาจะบอกว่าเค้าไม่มี ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เราจะปฏิเสธ แต่ส่วนใหญ่ร้านจะไม่เจอกลุ่มนี้เพราะกลุ่มนี้จะไม่ค่อยเข้ามา ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาในพื้นที่หาดใหญ่" นายจรินทร์ กล่าว

มีการประเมินว่า ในกลุ่มมิจฉาชีพ หากจะมีการแลกเงินนั้นก็คงจะต้องใช้บริการร้านรับแลกเงินใต้ดิน หรือร้านรับแลกเงินที่ผิดกฏหมาย มากกว่าการมาแลกร้านรับแลกเงินที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง แม้ว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจะต่ำกว่าก็ตาม

ไม่ต่างจากร้านรับเเลกเงินในกรุงเทพฯ ที่ผู้ซื้อเเละขายเงินตรา ต้องแนบหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต สำเนาบัตรประชาชน เเละแจ้งเบอร์โทรศัพท์ มีการตั้งข้อสังเกตว่าร้านเเลกเงินเป็นช่องทางหนึ่งของกลุ่มมิจฉาชีพที่ต้องการฟอกเงิน ทำให้ร้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Money Exchange อยู่ภายใต้การดูแลของ ธ.ป.ท. มีเงื่อนไขที่กำหนดให้ร้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศต้องรายงานปริมาณธุรกรรมต่อ ธ.ป.ท.ทุกเดือนเเละเพื่อป้องกันการแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีความผิดปกติ ธ.ป.ท. จึงกำหนดเพิ่มว่า หากรายใดซื้อขายเงินตราต่างประเทศมูลค่าเกิน 2 ล้านบาทต่อราย ต้องรายงานข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ทราบความเคลื่อนไหว

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตเปิดร้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,943 แห่ง เดือน ม.ค.2560 เพิ่มขึ้น 40 แห่ง โดยจังหวัดที่มีจำนวนร้านค้าเงินได้รับอนุญาตสูงสุดจะสอดคล้องกับพื้นที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก คือ ภูเก็ต,กรุงเทพ, ชลบุรี,สุราษฎร์ธานี และสงขลา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง