ใบสั่งตาย “ค้าลิ่น” ข้ามชาติ

สิ่งแวดล้อม
17 ก.พ. 60
19:10
14,925
Logo Thai PBS
ใบสั่งตาย “ค้าลิ่น” ข้ามชาติ
18 ก.พ.วันลิ่นโลก แนวโน้มอาชญากรรมค้าลิ่นข้ามชาติรุนแรงขึ้น ประเทศไทยกำลังถูกจับตาอีกครั้งในฐานะเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่ยังนิยมบริโภค คือ ลาว เวียดนาม จีน พบราคาเกล็ดลิ่นในตลาดมืดพุ่ง 1 แสนบาท ส่วนลิ่นมีชีวิตถูกทรมานบอบช้ำ อัตรารอดเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์
ถ้าคำนวณจากน้ำหนักเกล็ดลิ่น จำนวน 2.9 ตันที่จับได้จากคองโก น่าจะเท่ากับลิ่นแอฟริการาว 6,000 ตัวที่ต้องตายลง

คำบอกเล่าของ นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกถึงการตรวจยึด “เกล็ดลิ่น”ล็อตใหญ่น้ำหนัก 2.9 ตัน เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ถัดมาอีกเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ วันที่ 14 ก.พ.นี้ เจ้าหน้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ ยังตรวจยึดเกล็ดลิ่นได้อีก 1 ตันเศษ โดยทั้งสองคดีพบการขนส่งทางเครื่องบิน ต้นทางจากประเทศคองโก ปลายทางที่ประเทศลาว ครั้งนี้แจ้งสินค้าว่าเป็น กระเพาะปลาแต่เมื่อผ่านการเอ็กซเรย์กลับพบมีลักษณะเป็นเกล็ด จึงตรวจยึดไว้ได้ก่อนที่จะเล็ดลอดผ่านจากไทยไปยังประเทศปลายทาง 

เปิดเส้นทางโลกสู่ตลาดเอเชีย ไทยแค่ทางผ่าน

นายสมเกียรติ บอกว่า สถานการณ์ค้าตัวนิ่ม หรือตัวลิ่น หลังจากการประชุมอนุสัญญาไซเตส ในปี 2016 ที่ได้มีการปรับบัญชีลิ่นทั้ง 8 สายพันธุ์ของทั้งโลกจากบัญชี 2 มาเป็นบัญชี 1 ทำให้เกิดการขน และลักลอบค้าตัวลิ่นข้ามชาติไปยังประเทศที่นิยมบริโภคลิ่น คือ จีน เวียดนามและลาวบ่อยขึ้น โดยพบว่ามีต้นทางคือประเทศคองโก แอฟริกา และปลายทางไปยังเวียดนาม ลาว และจีน โดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมศุลกากร มีการตรวจยึดเกล็ดลิ่นจากประเทศคองโก ได้จำนวน 2.9 ตันและปลายทางไปที่ประเทศลาว 

“ขบวนการค้าเกล็ดลิ่นข้ามชาติครั้งนี้ น่าสนใจมาก เพราะทั้ง 2 ล็อต มาจากต้นทางคือคองโก ขนส่งมาทางอากาศ และไปเปลี่ยนเป็นสายการบินตุรกี มาไทย และจากไทยจะไปเวียดนาม ส่วนรอบที่ 2 จากคองโก มาไทย และจะไปที่ลาว โดยเราได้ประสานไปยังไซเตสของคองโก เพราะพบข้อพิรุธเรื่องใบขอส่งออก 3 จุด เพราะเป็นใบอนุญาตที่ปลอมขึ้น ไม่ตรงกับใบอนุญาตไซเตสของแต่ละประเทศ ที่มีในระบบฐานข้อมูล จุดที่ 2 พบว่า ชื่อเจ้าหน้าที่ที่อนุญาต เป็นคนที่เราเคยประชุมร่วมและรู้จักเขา แต่ตอนนี้เขาย้ายไปจากส่วนอื่นแล้ว ไม่มีอำนาจตรงนี้ ส่วนอีกจุดพบตัวเลขน้ำหนัก มีการเขียนผิด ไม่ตรงกับหลักสากล และสำคัญคือไซเตสไม่มีโควต้าส่งออกค้าขายตัวลิ่นเลย จึงมีการประสานไปยังไซเตสของคองโก ร่วมกันตรวจสอบ จนชัดเจนว่าเป็นขบวนการค้าเกล็ดลิ่นอย่างแน่อน ทำให้ยึดได้ระหว่างที่เขาจะนำสินค้ามาเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินประเทศไทย ”


ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส ยอมรับว่า ขบวนการค้าลิ่น จากทวีปแอฟริกาในปัจจุบัน ไซเตส และตำรวจสากล พยายามเข้ามาช่วยแก้ไข เพราะถือเป็นอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ โดยกองกำลังติดอาวุธที่ลักลอบค้าสัตว์ป่า แลกกับการซื้ออาวุธปืน เพื่อใช้ในการล่าช้างเอางาช้าง นอแรด ส่วนจะโยงกับขบวนการค้าสัตว์ป่าในไทยหรือไม่ ยังไม่ยืนยัน แต่พอจะหาความเชื่อมโยงกับขบวนการค้าสัตว์ป่าสัญชาติเวียดนาม ที่อยู่ในภาคอีสานรายใหญ่ ซึ่งน่ากังวลว่าการที่ใช้เป็นทางผ่าน เป็นฮับของการขนส่งทางอากาศ ไปยังประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง อาจทำให้เราถูกจับตาจากไซเตสอีกครั้ง และเสี่ยงที่จะถูกแบนทางการค้า อย่างที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำการค้างาช้างของโลกในช่วง 2 ปี จนต้องตามแก้ปัญหา

อัตรารอดตายแค่ 1 เปอร์เซ็นต์

หากย้อนถึงปัญหาการลักลอบค้าตัวนิ่ม หรือตัวลิ่น ทั้งที่ยังมีชีวิต ซาก หรือเกล็ดลิ่น เขายอมรับว่ามีมานานนับ 10 ปี แนวโน้มไม่ได้ลดลง โดยเฉพาะระยะ 2-3 ปีนี้ มีคดีรายใหญ่ที่ตรวจยึดลิ่นมีชีวิตปีละ 400-500 ตัวจับออกจากป่าธรรมชาติ แต่ยังพบการเพิ่มรูปแบบการลักลอบขนส่ง เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ เนื่องจากราคาที่จูงใจของประเทศปลายทางในตอนนี้ 

ข้อมูลจากกองไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ย้อนหลังในรอบ 10 ปีระหว่างปี 2551-2560 พบว่าตรวจยึดลิ่น มีชีวิตได้ จำนวน 3,649 ตัว ซากลิ่น 38 ซาก เนื้อลิ่น 4.5 กิโลกรัม และเกล็ดลิ่น 767.9 กิโลกรัม มีจำนวน 55 คดี ผู้ต้องหา 203 คน โดยเฉพาะในปี 2559 สามารถยึดตัวลิ่นมีชีวิตได้มากที่สุดถึง 696 ตัว ซากลิ่น 2 ตัว และเกล็ดลิ่น 152 กิโลกรัม ขณะที่ในเดือน ก.พ.2560 สามารถตรวจยึดเกล็ดลิ่นจากประเทศคองโก ขนผ่านทางเครื่องบินมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศลาว รวมน้ำหนัก 3.9 ตันมูลค่าเกือบ 60 ล้านบาท


“พวกมันน่าสงสารมาก ขบวนการค้าตัวลิ่นแบบมีชีวิตการจะส่งไปปลายทางต้องขนส่งทางบก จะใช้วิธีการยัดแป้งเพิ่มน้ำหนัก และอัดยาชูกำลังเพื่อให้มันอยู่ได้อย่างน้อยเป็นสัปดาห์ก่อนเดินทางจากใต้สุดของไทยไปไกลถึงเวียดนาม จีน โดยพวกมันจะถูกรวบรวมเป็นจำนวนนับร้อยตัว พักเอาไว้ก่อน การพร้อมจะขนส่ง ใส่กล่องพลาสติกกล่องละตัว และอัดมาในรถ เปลี่ยนรถหลายต่อ จากทางใต้แถวด่านสะเดา จ.สงขลา เปลี่ยนจากรถบรรทุกขึ้นมา เมื่อถึงชุมพร สุราษฎร์ธานี จะเปลี่ยนเป็นรถปิกอัพ เมื่อขึ้นมาถึงจังหวัดอีสาน ก็จะเปลี่ยนใช้รถขนาดเล็ก และล่าสุดยังพบกรณีรถเกิดอุบัติเหตุแถว อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี พบว่าหันไปใช้ขนส่งรถเก๋งส่วนบุคคล เป็นการเปลี่ยนเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ พวกมันจึงมีสภาพบอบช้ำมาก พบว่าลิ่นที่มีชีวิต และถูกตรวจยึดได้ แม้จะเอาไปปล่อยในป่า มันตายร้อยละ 99 หรือมีโอกาสรอดแค่ 1 เปอร์เซ็นต์” 

ใครบริโภคลิ่นจนราคาพุ่งอันดับ 3 ของอาชญากรรมสัตว์ป่า

ความนิยมในการบริโภคตัวลิ่น ทั้งการกินเนื้อ และใช้เกล็ดลิ่นในการประกอบยาจีน และดื่มเลือดสด โดยมีความเชื่อว่า จะช่วยให้สุขภาพดี เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แน่นอนว่ากลุ่มผู้บริโภคสัตว์แปลกชนิดนี้ คือประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือ ลาว เวียดนาม และจีน วันนี้มูลค่าของลิ่นจึงก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญ

“น่ากังวลว่า จากการตรวจสอบตลาดการค้าตัวลิ่น เริ่มมีความรุนแรงมากในแถบแอฟริกา ส่วนลิ่นที่มีในไทย และแถบมาเลเซีย ก่อนหน้านี้ตลาดจะขนทางรถ จากทางภาคใต้ออกทางด่านการค้า ชายแดนไทยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มลดลง แนวโน้มเราเข้มงวดมากขึ้น และบ้านเรามีแนวชายแดนติดกับประเทศลาว สัตว์ป่าถูกส่งออกไปทางแม่น้ำโขง ขนลิ่นมีชีวิตข้ามแม่น้ำโขง นำไปเพื่อบริโภค ถ้าเป็นตัวเนื้อ และเกล็ด มีความเชื่อว่าช่วยให้มีสุขภาพดี รักษาโรค เป็นความเชื่อของคนจีน ราคาที่ขายในตลาดมืดวันนี้ มีราคาพุ่งสูงไปถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะเกล็ดลิ่น ตกกิโลกรัมละ 100,000 บาท ส่วนเนื้อลิ่น ที่นำไปทั้งที่ยังมีชีวิตจะตกราคาประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 35,000 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม จนตอนนี้มูลค่าการค้าลิ่น ติดอันดับที่ 3 รองจากการค้างาช้าง และเสือโคร่ง ของอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าโลก”

รู้จักพฤติกรรม “ลิ่น” หรือ "นิ่ม"

ลิ่น หรือ นิ่ม เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบทั่วโลกมีเพียง 8 สายพันธุ์ อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ 6 สายพันธุ์ ส่วนในไทย และทวีปเอเชีย มี 2 ชนิด คือพันธุ์ซุนดา หรือลิ่นชวา กับลิ่นจีน

ลิ่น มีส่วนหน้าที่ยาว มีปากขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูเล็กๆ ไม่มีฟัน กินปลวก มด แมลงตามพื้นดินเป็น ด้วยลำตัวที่มีเกล็ดเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนกับเป็นชุดเกราะ เมื่อมันเจอศัตรูจะม้วนหางเป็นวงกลม ทำให้ผู้ล่าและมนุษย์จับตัวมันได้ง่าย

 

มีข้อมูลว่า เกล็ดลิ่น มีความเชื่อว่าจะนำไปบดทำยาจีน รักษาโรค และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เป็นที่นิยมในแถบจีน เวียดนาม ลาว ส่วนไทยไม่นิยมบริโภค แต่มีการลักลอบจับจากสวนยางพาราและป่าธรรมชาติ ขนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

สิ่งที่น่าห่วงคือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะจัดให้ “ลิ่น” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และยังถูกไซเตสขึ้นบัญชี 1 ภายใต้อนุสัญญาไซเตส แต่กลับยังไม่มีการศึกษาประชากรของลิ่นในไทยว่ามีมากหรือน้อยแค่ไหน รวมทั้งยังไม่มีใครเลี้ยงลิ่นให้รอดตายได้

18 ก.พ.ของทุกปี กำหนดเป็น “วันลิ่นโลก” คงไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีลิ่นอีกกี่ชีวิตต้องตาย !!!

จันทร์จิรา พงษ์ราย ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง