สผ.สรุป 17 ประเด็นใหญ่ 143 ประเด็นย่อย ตีกลับรายงานสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้ากระบี่

สิ่งแวดล้อม
20 ก.พ. 60
15:52
1,979
Logo Thai PBS
สผ.สรุป 17 ประเด็นใหญ่ 143 ประเด็นย่อย ตีกลับรายงานสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้ากระบี่
เปิด 17 จุดอ่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ต้องทบทวนประเด็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เทคโนโลยีโรงไฟฟ้า และการเลือกใช้ถ่านหิน รวม 143 ประเด็นย่อย เลขาสผ.รอฟังความชัดเจนมติครม.ยกเลิกรายงานอีเอชไอเอ พรุ่งนี้( 21ก.พ.)

ภายหลังรัฐบาลประกาศว่าจะเริ่มต้นทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ส่วนขยาย) พื้นที่ ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งเข้าข่ายโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ

วันนี้ (20 ก.พ.2560)นางรวิวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กรณี ที่รัฐบาลทบทวนการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งจะต้องพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ ใหม่อีกครั้ง โดยเชื่อว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดีที่ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนที่เปิดให้มีการพิจารณา ทั้งภาคประชาชนภาครัฐ นักวิชาการ แต่ทั้งนี้คงต้อง รอความชัดเจนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (21 ก.พ.) และดูรายละเอียดอีกครั้ง

 

 

รอฟังมติ ครม.ยกเลิกรายงานอีเอชไอเอโครงการ

เลขาธิการสผ. กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จะมีการพิจารณา 2 ส่วน คือ ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จะพิจารณา รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ส่วนตัวโรงไฟฟ้าถ่านหินจะพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้นำรายงานดังกล่าวกลับไปปรับปรุงตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และยังไม่ได้มีการส่งรายงานกลับมาตั้งแต่ปี 2558

“ในรายงานสิ่งแวดล้อม ยังมีประเด็น ที่ต้องทำให้ครบถ้วน 17 ข้อใหญ่ และอีก 143 ข้อย่อย ที่คณะกรรมการไตรภาคี มีข้อเสนอให้จัดการรายงานเพิ่มเติม เช่น การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การใช้พลังงานทางเลือกและด้านสมุทรศาสตร์ เป็นต้น เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเสนอประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป สำหรับความแตกต่างของการทำอีไอเอ และอีเอชไอเอ จะมีการกำหนดการรับฟังความคิดเห็นไว้จำนวนครั้งต่างกัน ซึ่งอีเอชไอเอ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไว้ 3 ครั้ง และอีก 1 ครั้งโดยหน่วยงานอนุมัติเป็นผู้จัดทำ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากร ธรรมชาติและสุขภาพ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง” นางรวีวรรณ กล่าว

 

143 ข้อย่อย เปิด 17 จุดอ่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่


ทีมเว็บข่าวออนไลน์ไทยพีบีเอส ตรวจสอบสถานภาพรายงาน “อีเอชไอเอ” โครงการโรงไฟ้า ถ่านหินกระบี่ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. มอบหมายให้บริษัทแอร์เซฟ จำกัด เป็นผู้ศึกษารายงานอีเอชไอเอ และได้นำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (สผ.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2558


ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนรวม 17 ประเด็นใหญ่ และ 143 ประเด็นย่อย รวมเอกสารจำนวน 15 หน้า โดย นางปิยนันท์ โศภณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สผ.ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณารายงานอีเอชไอเอ ไปยังกฟผ.วันที่ 10 มี.ค.2558


เหตุผลสำคัญคือ “ให้โครงการเพิ่มเติมรายละเอียดการศึกษาทางเลือกของโครงการ โดยให้มีหลักเกณฑ์และเหตุผลในการพิจารณาทางเลือกที่ชัดเจน ครอบคลุมการเลือกสถานที่สร้างโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้า

เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะกับถ่านหินซับบิทูมินัส รวมทั้งเพิ่มเติมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อยที่ใช้ถ่านหิน กำลังผลิตรวมตั้งแต่ 100 เมกกะวัตต์ เข้าข่ายโครงการที่ต้องทำรายงานอีเอชไอเอ”

 

สำหรับข้อมูล 17 ประเด็นที่ คชก.เสนอให้เพิ่มเติมเนื้อหา ประกอบด้วย


1.บทนำ (7 ประเด็นย่อย)

2.ด้านรายละเอียดโครงการ (19 ประเด็นย่อย)
-การไม่ใช้ระบบหล่อเย็น ,ปริมาณการสูบน้ำจากคลองปกาสัย อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ผลกระทบต่อระบบนิเวศ
-คุณสมบัติเชื้อเพลิงถ่านหิน และการจัดการ เช่น วิเคราะห์องค์ประกอบของโลหะหนักในถ่านหิน
-เพิ่มเติมมาตรการติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
-การควบคุมฝุ่นจากลานกองหิน

3.ด้านสภาพพื้นที่ปัจจุบัน (3 ประเด็นย่อย)
-เพิ่มเติมรายละเอียดพื้นที่ป่าสมบูรณ์ให้ครบ วิเคราะห์ผลกระทบในรัศมี 5 กม.จากขอบเขตพื้นที่
-ทบทวนชื่อสัตว์
-ตรวจสอบข้อมูลผลกระทบทางด้านเกษตรกรรมใน ต.ปกาสัย

4.ด้านน้ำ (41ประเด็นย่อย)
-น้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็น เช่น แสดงรายละเอียดการออกแบบระบบหล่อเย็นโครงการ
-ปริมาณน้ำที่ใช้ ระบบการบำบัดน้ำเสีย
-เพิ่มเติมวิเคราะห์สารโลหะหนัก
-ประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศ การเกษตรกรรม แหล่งน้ำใต้ดิน

5.ด้านทรัพยากรดิน (3 ประเด็นย่อย)
-เพิ่มการวิเคราะห์ปรอท ตะกั่ว โครเมียมในตะกอนดิน

6.การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการท่องเที่ยว (2 ประเด็นย่อย)
-พื้นที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามประกาศทส.

7.ด้านการจัดการเถ้า (4 ประเด็นย่อย)

8.ด้านสารเคมี (3 ประเด็นย่อย) 

9.ด้านคุณภาพอากาศ (15 ประเด็นย่อย)
-เครื่องควบคุมก๊าซออกไซต์ของไนโตรเจนจากไอเสีย
-เครื่องควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
-เพิ่มเติมการวิเคราะห์ ปรอทจากถ่านหินซับบิทูมินัส
-อัตราการระบายมลพิษทางอากาศ

10.ด้านเสียง (2ประเด็นย่อย)
-ทบทวนเสียงทั้งในระหว่างการก่อสร้าง มาตรการป้องกัน

11.ด้านคมนาคม (2 ประเด็นย่อย)
-โครงการมีการใช้น้ำมันดีเซลสำรอง ให้เพิ่มประเมินการจราจรการขนส่งน้ำมัน

12.ด้านสุขภาพ (3 ประเด็นย่อย)
-ทบทวนผลกระทบทางด้านสุขภาพที่สอดคล้องความเป็นจริง

13.ด้านเศรษฐกิจ-สังคม (7ประเด็นย่อย)
-ผลสำรวจร้อยละ 31 ไม่เห็นด้วย ไม่แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 30 ให้เพิ่มข้อมูลการประชาสัมพันธ์
-เดิมมีการศึกษาพื้นที่รัศมี 0-3 กิโลเมตร และ3-5 กิโลเมตร ให้ปรับปรุงใหม่

14.ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน (2ประเด็นย่อย)
-เพิ่มเติมโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
-เพิ่มปัญหาข้อร้องเรียนจากโครงการโรงไฟฟ้า

15.ด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย

16.ด้านมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (22 ประเด็นย่อย)
-ทบทวนประเภทถ่านหินในโครงการ
- ให้เพิ่มมาตรการลดหรือควบคุมผลกระทบการระบายปรอทจากการระบายจากปล่อง
-ปรับปรุงมาตรการทั้งหมดของโรงไฟฟ้ากระบี่ในปัจจุบัน และโครงการส่วนขยาย
-เพิ่มสถานีตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม
-ผลกระทบทางด้านคุณภาพแหล่งน้ำใต้ดิน


17.อื่นๆ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง