ความเห็นแกนนำ หลังมติ ครม.ศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

สิ่งแวดล้อม
21 ก.พ. 60
19:39
371
Logo Thai PBS
ความเห็นแกนนำ หลังมติ ครม.ศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ความเห็นแกนนำคัดค้านโรงไไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขอติดตามประเด็นในการศึกษาและ กรรมการจัดทำรายงาน EIA และ EHIA

 

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำปกป้องอันดามัน ให้ความเห็นที่สนามบินดอนเมือง ในระหว่างเตรียมเดินทางกลับจังหวัดกระบี่ ว่า ขอรอดูมติ ครม.ที่เป็นทางการ หากเป็นไปตามข้อตกลงทั้งหมดจะไม่มีปัญหาแต่ขณะนี้ต้องรอดูเอกสารความชัดเจน เพราะหากมีเงื่อนไขบางอย่างอาจนำไปสู่ความขัดแย้งแบบเดิม รวมถึงต้องดูการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่ควบคุมและต้องได้รับการยอมไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมาที่จ้างบริษัทไปดำเนินการ รวมถึงขั้นตอนการทำรายงานผลการศึกษาทั้ง EIA และ EHIA จะต้องใช้ระะยะเวลานาน หากทำในระะยะสั้นข้อมูลก็จะไม่สมบูรณ์

ส่วนกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล พูดประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงของตำรวจเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ในระหว่างปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุม เพื่อขอให้ยุติชุมนุมโดยช่วงหนึ่ง พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ติดใจว่าจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าด้วยถ่านหิน หรือ เชื้อเพลิงใด ขอแค่ยกเลิก EIA และ EHIA

นายประสิทธิ์ชัย ระบุว่า พล.ท.สรรเสริญ เข้าใจผิดเพราะจุดยืนของกลุ่มปกป้องอันดามันมีความชัดเจนว่า ไม่ต้องการถ่านหินและเป็นประเด็นที่เคลื่อนไหวมาตลอด รวมถึงการเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมาด้วย ไม่ได้ยอมรับการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง หรือ ไม่ใช่จะใช้เชื้อเพลิงอะไรก็ได้ ประเด็นนี้ไม่อยู่ในเงื่อนไขหรือข้อตกลงการเจรจาเพื่อปล่อยตัวและยุติชุมนุม มีแค่ประเด็นเดียวคือยกเลิก EIAและ EHIA โครงการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ของเดิม แต่หากจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าใหม่ จะต้องเริ่มศึกษาผลกระทบใหม่


นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้ความเห็นว่า เป็นการถอยอย่างมีชั้นเชิงของรัฐบาล ซึ่งการทำผลการศึกษาต้องดำเนินการอย่างรอบด้าน มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อศึกษา และเห็นว่าการคำนวนต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จะพบว่ามีมูลการการลงทุนที่สูง โดยที่การไฟฟ้าไม่มีทางรับได้ และอาจทำให้โครงการนี้ยุติไปเอง ขณะที่การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นต้องให้ความสำคัญกับผลศึกษาที่กระทบต่อ แรมซ่าไซด์ หรือ พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ รวมถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

รศ.เรณู เวชรัตน์พิมล หนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคีให้ความเห็นว่า การศึกษาผลกระทบมีบางเรื่องที่สามารถใช้ข้อมูลของการไฟฟ้าได้อยู่แล้ว เช่น ข้อมูลด้านแผนที่ แต่ประเด็นสำคัญคือการกำหนดกรอบการศึกษาว่า มีประเด็นใดเกี่ยวข้องบ้าง แต่การทำรายงานผลการศึกษาหากใช้ระยะเวลาน้อย จะนำมาอ้างอิงไม่ได้

ขณะที่หม่อมหลวงรุ่งคุณ กิติยากร หนึ่งในแกนนำ ให้ความเห็นว่า ขอรอดูเอกสารที่เป็นมติทางการ แต่ประเด็นที่น่าติดตาม คือ การตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อมากำกับดูแลการทำรายงานผลการศึกษา ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง