กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดชุมนุมค้านการขนแร่เหมืองทอง จ.เลย

สิ่งแวดล้อม
22 ก.พ. 60
07:23
406
Logo Thai PBS
กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดชุมนุมค้านการขนแร่เหมืองทอง จ.เลย
กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าคนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ยืนยันจะชุมนุม เพื่อปิดทางเข้า-ออกเหมืองทองคำของบริษัทเอกชนในพื้นที่ จนกว่าบริษัทจะนำรถบรรทุก ออกจากเหมืองโดยไม่มีการขนย้ายแร่ และได้รับอนุญาตตามระเบียบ มาแสดงต่อชาวบ้าน

วันนี้ (22 ก.พ.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งคืน ชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ยังคงปักหลักชุมนุม เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณทาง-เข้าออก เหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยมีทหารจากมณฑลทหารบกที่ 28 และตำรวจภูธรวังสะพุง เฝ้าระวังสถานการณ์ในเพื่อเรียกร้องให้บริษัทนำรถบรรทุก จำนวน 11 คัน ออกจากพื้นที่ หลังบริษัท ทุ่งคำได้ ขออนุญาต อุตสาหกรรมจังหวัด ขนย้ายแร่ที่มีอยู่เดิมและค้างในโรงแต่งแร่ และโรงประกอบโลหกรรม ซึ่งเป็นสินแร่ทองแดง มีทองคำ และเงินเจือปน จำนวน 190 ถุง หรือประมาณ 260 ตัน

นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตตามระเบียบการขนย้ายแร่ออกจากเหมือง โดยนำรถบรรทุกเข้าไปภายในเหมือง ทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีการขนย้ายแร่ ขณะเดียวกัน ยังตั้งข้อสังเกตว่าแร่ทั้งหมดเป็นแร่ทองแดงที่ค้างอยู่ในโรงแต่งแร่เดิมหรือไม่ นอกจากนั้น การขนแร่ยังถือเป็นการการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 เรื่องที่ให้บริษัทเอกชนระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น

ด้านนายพัดทอง กิตติวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เลย กล่าวว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ อยู่ระหว่างรอหนังสือความเห็นจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ หลังจากได้ส่งหนังสือเพื่อหารือว่าจะสามารถขนแร่ที่มีอยู่เดิมออกไปได้หรือไม่ เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้บริษัทขนแร่ออกจากเหมือง จนกว่าจะได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ

บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้รับใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เมื่อปี 2546 แต่ระหว่างดำเนินกิจการเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและบริษัทเอกชน เนื่องจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเรียกร้องให้ปิดเหมืองถาวร และคัดค้านขอประทานบัตรเปิดพื้นที่ทำเหมืองแห่งใหม่ โดยอ้างถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2ที่มีการขออนุญาตขนแร่ ออกจากเหมือง หลังจากที่เมื่อ 3 ปีก่อน ทางบริษัทได้พยายามขนแร่ออกจากพื้นที่จนเกิดการปะทะกับชาวบ้าน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง