เปิด 12 จุดอ่อน 160 ประเด็นย่อยสผ.ตีกลับ “ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว” กระบี่

สิ่งแวดล้อม
23 ก.พ. 60
14:51
1,196
Logo Thai PBS
เปิด 12 จุดอ่อน 160 ประเด็นย่อยสผ.ตีกลับ “ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว” กระบี่
เปิดเอกสารมติ คชก. 12 จุดอ่อน 160 ข้อย่อย ตีกลับโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จ.กระบี่ ที่ส่งคืน กฟผ. ให้ไปปรับแก้วันที่ 18 มี.ค.2558 พบที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แรมซ่าไซต์ปากแม่น้ำกระบี่ และขัดพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ปัญหาผล กระทบขนถ่ายถ่านหิน

แม้วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลับไปทบทวนเนื้อหาในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ตีกลับไป และพบว่ามีจุดบกพร่องที่ต้องทบทวนเนื้อหารายงานเพิ่มเติม 17 ประเด็นใหญ่ 143 ประเด็นย่อยนั้น 

ทีมเว็บข่าวออนไลน์ไทยพีบีเอส ยังตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ. กระบี่ โดยบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอจิเนียริ่ง อนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ศึกษารายงานสิ่งแวดล้อม และทาง กฟผ.ได้ได้เสนอรายงานมาที่สผ. วันที่ 17 ธ.ค.2557 จากนั้นมีการบรรจุเข้าพิจารณาใน คชก. ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2558 แต่ คชก.มีมติให้กฟผ.ปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดในการโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว


พบรายงาน EIA บกพร่อง 12 ประเด็น 160 ข้อย่อย


จากการตรวจสอบพบว่า วันที่ 18 มี.ค.2558 คชก.โดยนางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ ผอ.สำนักวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มีหนังสือแจ้งมติประชุมส่งกลับไปยัง กฟผ. โดยให้กฟผ.ปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดในการโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว รวม 12 ประเด็นใหญ่ 160 ประเด็นย่อย รวมเอกสารจำนวน 16 หน้า และสถานภาพในปัจจุบัน คือยังไม่มีการส่งรายงานเพิ่มเติมมาที่สผ.


สำหรับ 12 ประเด็นหลักที่ถูกกตั้งคำถามจาก คชก.มากที่สุดได้แก่ ประเด็นข้อที่ 6 ด้านการจัดการน้ำทิ้ง และการระบายน้ำ มีจำนวน 25 ข้อย่อย เช่นการประเมินว่าโครงการขวางการระบายน้ำตามธรรมชาติหรือไม่ ผลกระทบจากน้ำทะเลท่วมถึง อาคารเก็บถ่านหินสำรองขนาด 50,000 ตัน โดยใช้น้ำรดกองถ่านหินวันละ 90 ลบ.ม.


ประเด็นรองลงมาคือข้อ 4 ด้านสัณฐานวิทยาชายฝั่ง สมุทรศาสตร์ และการแพร่กระจายของตะกิน จำนวน 24 ประเด็นย่อย เช่น แสดงระดับความลึกของร่องน้ำบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ และแนวเส้นทางเดินเรือ ตั้งแต่ปากร่องน้ำลึกศรีบอยา จ.กระบี่ จนถึงบริเวณท่าเทียบเรือ ทบทวนความลาดชันและกำแพงป้องกันการกัดเซาะ ผลการเทียบแบบจำลอง และข้อมูลการวัดทุ่นสมุทรศาสตร์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและการประเมินกรณีเกิดธรณีพิบัติภัย หรือสึนามิ

 

ระบุผ่าใจกลาง “แรมซาไซต์ปากแม่น้ำกระบี่” พท.ชุ่มน้ำโลก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ในประเด็นที่ 1 คือด้านรายละเอียดโครงการ มี 19 ประเด็นย่อย เช่น ให้พิจารณาตรวจสอบว่ากิจกรรมโครงการท่าเทียบเรือขัดต่อร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อ.อ่าวลึก อ.เมืองกระบี่ อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ หรือไม่ เนื่องจากร่างฉบับนี้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการแล้ว


นอกจากนี้ยังมีประเด็นพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซ่าไซต์ รวมทั้งให้สรุปทางเลือกวิธีการก่อสร้างระบบลำเลียงถ่านหิน และแสดงวิธีการก่อสร้าง การใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวสายพานลำเลียงถ่านหินพาดผ่าน ให้เพิ่มเติมรายละเอียดกำแพงป้องกันการกัดเซาะความชัดเจนในวิธีการลำเลียงถ่านหิน ระยะเวลาเทกองถ่านหินและให้คำนึงถึงการลุกติดไฟได้เอง เป็นต้น


ส่วนประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ด้านผลกระทบจากอุโมงค์ และแนวสายพานลำเลีเยงขนถ่ายถ่านหิน จำนวน 8 ประเด็นย่อย ประเด็นด้านโครงสร้าง 7 ข้อย่อย ประเด็นด้านคุณภาพอากาศและเสียง และความสั่นสะเทือน 6 ข้อ ประเด็นด้านทรัพยากรชีวภาพ 7 ข้อย่อย ด้านการคมนาคม 13ข้อย่อย และประเด็นด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 14 ข้อย่อย ประเด็นด้านสังคม เศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 20 ข้อย่อย เนื่องจากกฟผ.เปลี่ยนจากการขนถ่ายถ่านหินโดยเรือ 50,000-100,000 ตัน ขนถ่ายลงเรือ 3,000 ตัน เพื่อไม่ต้องขนถ่ายทางทะเล

 

ขั้นตอนการทำ EHIA โครงการรัฐไม่มีกรอบเวลา 

ก่อนหน้านี้ นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสผ. ระบุว่า ขณะนี้มีโครงการที่ต้องเข้าข่ายจัดทำรายงาน EIA จำนวน 35 ประเภทที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง และประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ กำหนดให้ต้องจัดทำ EHIA โครงการ 11 ประเภทที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งตามขั้นตอนหลังจากเจ้าของโครงการ เสนอเข้าพิจารณาในคชก. แล้ว หากคชก.เห็นชอบ จะส่งให้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบและส่งกลับมายัง สผ. เพื่อเสนอพิจารณาในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในกรณีโครงการพัฒนาของรัฐ จะไม่มีกำหนดกรอบระยะเวลาพิจารณา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง