จวก "EIA-EHIA" แค่เสือกระดาษ ชงยกเครื่องกระบวนการทำทั้งระบบ ใช้โมเดลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

สิ่งแวดล้อม
2 มี.ค. 60
11:30
1,057
Logo Thai PBS
จวก "EIA-EHIA" แค่เสือกระดาษ ชงยกเครื่องกระบวนการทำทั้งระบบ  ใช้โมเดลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
กลุ่มนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายภาคประชาสังคม ชำแหละจุดบอดการทำรายงานสิ่งแวดล้อม เสนอปฎิรูปกระบวน การจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมด โดยใช้กรณีปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยกเครื่อง

วันนี้ (2 มี.ค.2560) จากเวทีการเสวนาเรื่อง"ยกเครื่องระบบ EHIA -เดินหน้าSEA : เริ่มต้นจากโรงไฟฟ้ากระบี่" โดยมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนชาวบ้านจากกระบี่ องค์กรอนุรักษ์เข้าร่วมฟังและเสนอทางออกในการปฏิรูปโครงสร้างและกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เสนอต่อรัฐบาลให้สำเร็จภายใน 6 เดือน

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิกถอนการทำรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIAโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หลังจากพบปัญหาในกระบวนการทำขาดการมีส่วนร่วม จึงเสนอให้นำบทเรียนจากกรณีนี้มาผลักดันให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ปฏิรูปโครงสร้างและกระบวนการทำรายงาน EIA และEHIA ทั้งระบบ และต้องมีความเป็นรูปธรรม

 

 

เปิด 6 ข้อปฏิรูปโครงสร้าง

ดร.บัณฑูร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างมี 6 ประเด็น เริ่มตั้งแต่ผู้ศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA ควรต้องกำหนดคุณสมบัติและองค์ประกอบ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้ทำรายงาน กระบวนการคัดเลือกผู้ศึกษาและงบประมาณ ส่วนประเด็นที่ 2 โครงสร้างองค์กร เห็นว่าควรเพิ่มคณะกรรมการกำกับการจัดทำรายงาน คณะกรรมการพิจารณารายงานและคณะกรรมการรับฟ้งความเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมจากเดิมบริษัทเข้าของโครงการเป็นผู้จัดเวทีและเกิดความไม่เป็นกลางและเกิดความขัดแย้ง ประเด็นที่3 กระบวนการมีส่วนร่วม เช่นเปิดเผยข้อมูลเอกสารรายงานต่อสาธารณะ 4.ประเด็นการศึกษาและประเมินผลกระทบ ต้องกำหนดกรอบเวลา และกรอบการศึกษาให้ชัดเจน 5.ขั้นตอนการพิจารณา ควรต้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลอย่างเพียงพอ มีระยะเวลากำหนดกรอบเวลาในการปรับปรุงและประเด็นที่ 6 ต้องมีการป้งกันและเยียวยาผลกระทบอย่างเป็นธรรมซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา58ของรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ

 

ชี้แค่เสือกระดาษไร้อำนาจ - ชงระบบSEAล้อมคอก

ด้าน รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยอมรับว่า มาตรการลดผลกระทบในรายงาน EIA-EHIA ของโครงการต่างๆที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกเจ้าของโครงการนำไปปฏิบัติอย่างครบถ้วนแม้จะมีการกำหนดในเงื่อนไขเป็นรายประเด็น ขณะที่หน่วยงานรัฐที่ควบคุมก็ไม่มีอำนาจในการลงโทษทำให้มองว่า EIA เป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ และช่วงเวลานี้การใช้เครื่องมือนี้คงไม่เพียงพอต่อการรองรับโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

" ยอมรับว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมหลายคน เคยหารือนอกรอบเกี่ยวกับกระบวนการทำรายงานสิ่งแวดล้อมที่เกิดการขัดแย้ง แต่ยังไม่มีการผลักดัน รวมทั้งข้อเสนอให้นำระบบการประเมินส่ิงแวดล้อมระด้บยุทธศาสตร์ หรือSEA มาอุดช่องโหว่ควบคู่กับรายงานสิ่งแวดล้อมรายโครงการ เพื่อกำหนดขีดความสามารถในการองรับมลพิษเชิงพื้นที่ และมองถึงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบในภาพรวมของพื้นที่ รวมทั้งเสนอให้เจ้าของโครงการต้องเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณให้กับคชก.ในการพิจารณารายงานและการลงพื้นที่แทนที่หน่วยงานรัฐต้องแบกร้บงบส่วนนี้โดยตั้งงบผ่านกองทุนสิ่งแวดล้อม" รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของนายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เสนอว่าพื้นที่กระบี่จะต้องนำ SEA มาใช้ก่อนที่กฟผ.จะเริ่มทำรายงานสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ นอกจากนี้ขอเสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯแก้กฎกระทรวงที่ยังเป็นปัญหาต่อการปฏิรูปโครงสร้าง EIA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง