เบรกใช้ ม.44 เร่งคลอดสิทธิบัตร-พร้อมเปิด 12,000 รายการที่อ้างคำขอสะดุด

สังคม
2 มี.ค. 60
16:18
337
Logo Thai PBS
เบรกใช้ ม.44 เร่งคลอดสิทธิบัตร-พร้อมเปิด 12,000 รายการที่อ้างคำขอสะดุด
กลุ่ม FTA Watch มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เบรกรัฐบาลใช้มาตรา 44 เร่งออกสิทธิบัตรค้าง 12,000 ฉบับ กังวลไทยเสียเปรียบเข้าถึงยาในกลุ่มโรคสำคัญ เรียกร้อง 4 ข้อเปิดรายละเอียดคำขอสิทธิบัตร พร้อมมีระบบคัดกรอง

จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมใช้คำสั่งตามมาตรา 44 แก้ปัญหาการพิจารณาออกสิทธิบัตรล่าช้า ซึ่งค้างอยู่ 12,000 ฉบับ โดยจะเร่งออกสิทธิบัตรและผ่อนผันไม่ต้องตรวจคำขอโดยละเอียดในกรณีที่ยื่นขอจดในไทย แต่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศอื่นแล้ว

วันนี้ (2 มี.ค.2560) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย แถลงยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับยา

นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ผู้ขอสิทธิบัตรไม่ได้เสียสิทธิใดๆ จากการที่ออกสิทธิบัตรล่าช้า เนื่องจากมีการคุ้มครองตั้งแต่วันแรก และเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรออกคำสั่งมาตรา 44 แต่ควรใช้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนแทน

“ รัฐบาลอย่าหลงกล อย่าเสียค่าโง่ให้กับบริษัทยาข้ามชาติ การปล่อยผีมีผลกระทบเรื่องราคายาแพง อุตสาหกรรมในประเทศจะไม่เกิด และเมื่อให้สิทธิบัตรจะหมดอำนาจการต่อรองราคาทันที” นิมิตร กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า  คสช.อ้างว่ามีคำขอสิทธิบัตรค้างอยู่ 12,000 ฉบับ แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง อีกทั้งปัจจุบันบริษัทยาไม่ได้ลงทุนเรื่องการวิจัยพัฒนา แต่ใช้วิธีการขอสิทธิบัตรไปเรื่อยๆ เพื่อผูกขาดตลาดและขายยาราคาแพงเท่าไหร่ก็ได้ เบื้องต้นพบว่ามีการขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับยา 3,000 ฉบับ

โดยค่อนข้างกังวลกรณีที่ญี่ปุ่น มักจะมาขอสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต เช่น จุลชีพ จุลินทรีย์ ซึ่งกฎ หมายไทยไม่ยอมรับ โดยตั้งข้อสังเกตว่าคำขอลักษณะนี้อาจจะได้รับประโยชน์จากคำสั่งตามมาตรา 44 หรือไม่ เพราะจะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ และไม่สามารถใช้น้ำหมัก หรือจุลินทรีย์ ในการผลิตอุตสาหกรรมหลายประเภท

พบสหรัฐอเมริกาขอสิทธิบัตรในไทยอันดับ 1


นอกจากนี้ กรรณิการ์  ยังระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลยาที่มีการใช้สูงสุด 59 ตัว พบว่า หากนำแนวทางการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรใหม่มาใช้ เพื่อป้องกันการเกิดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดในปี 2539-2571 (ปีที่ได้รับผลกระทบจากคำขอรับสิทธิบัตรที่เป็น evergreen หรือประเภทที่ไม่มีความใหม่ หรือพัฒนานวัตกรรมให้สูงขึ้น) จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา มูลค่า 8,477 ล้านบาท ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) สนับสนุนให้มีการใช้คู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตร โดยหลายประเทศมีการนำไปใช้ เช่น อินเดีย อาร์เจนตินา

ขณะที่ยังมีข้อมูลว่า สัญชาติของผู้ขอรับสิทธิบัตรในไทย ปี 2542-2553 พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 33 เป็นสหรัฐฯ รองลงมา ร้อยละ 13 คือ เยอรมณี อันดับ 3 ฝรั่งเศส ส่วนผู้ขอสัญชาติไทยอยู่อันดับที่ 10 หรือเพียงร้อยละ 0.5 ขณะที่คำขอรับสิทธิบัตรในไทย ร้อยละ 84 มีลักษณะเป็น Evergreening หรือประเภทที่ไม่มีความใหม่ หรือพัฒนานวัตกรรมให้สูงขึ้น เช่น ยาต้านไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ ยาเบาหวาน ความดัน หัวใจ และโรคมะเร็ง ซึ่งมีราคาแพง ยกตัวอย่างยาโซฟอสฯ ที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี ขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตร 13 ฉบับ และยา Atazanavir สูตร 3 ใช้ต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งจะหมดสิทธิบัตรในอีก 1 เดือน แต่ขณะนี้มีคำขอต่อเนื่องอีก 6 ฉบับ หากผ่านจากคำสั่งมาตรา 44ก็จะผูกขาดตลาดอีก 31 ปี

“รัฐบาลทหารต้องการการยอมรับจากต่างประเทศสูงมาก ไม่มีใครในประเทศนี้จะได้ ไม่อยากให้เอาชีวิตคนไปแลกกับการยอมรับจากต่างประเทศ” กรรณิการ์ กล่าว

เรียกร้องเปิดรายละเอียดคำขอสิทธิบัตร 12,000 ฉบับ 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม FTA Watch มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เสนอ ทางออกให้การออกสิทธิบัตรเดินหน้า โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ดังนี้ 1.ให้ตรวจสอบคำขอสิทธิบัตร 12,000 ฉบับ ว่ามีจำนวนกี่ฉบับที่ไม่ได้ดำเนินการภายใน 5 ปี 2.เรียกร้องให้มีการใช้คู่มือ Evergreening ในการตรวจสอบและคัดคำขอสิทธิบัตร ประเภทที่ไม่มีความใหม่ หรือพัฒนานวัตกรรมให้สูงขึ้น ออกจากระบบ 3.ตรวจสอบว่ามีคำขอสิทธิบัตรใดบ้างไม่ตรงตามที่กฎหมายของไทยกำหนดไว้ เช่น การใช้จุลชีพ 4.แต่งตั้งกรรมการสิทธิบัตรยา โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากที่ผ่านมายังมีปัญหาจากตรวจสอบโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง