ชงเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก แก้ปัญหา-ก่อนขยะล้น "เกาะพีพี"

สิ่งแวดล้อม
14 มี.ค. 60
15:35
1,490
Logo Thai PBS
ชงเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก แก้ปัญหา-ก่อนขยะล้น "เกาะพีพี"
นักท่องเที่ยวหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ปีละ 1.7 ล้านคน ก่อขยะวันละ 20-30 ตัน แถมแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวปะการัง ขณะที่ อบต.อ่าวนาง แบกรับภาระค่าจัดเก็บปีละ 10 ล้านบาท จี้ คสช.คลอดกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก

“เกาะพีพี” แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2559 อยู่ที่ 1,739,571 คน ขณะที่หลายภาคส่วนกังวลว่า เกาะพีพี อาจเกิดปัญหาการจัดการขยะ โดยเฉพาะถุงพลาสติก ขวดน้ำ และกล่องโฟม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปะการัง รวมทั้งสัตว์ทะเลจำนวนมาก นำมาสู่โครงการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกของคนในสังคม

"เกาะพีพี"แบกรับค่าจัดการขยะนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้าน

 

นายประเสริฐ วงศ์นา รองนายก อบต.อ่าวนาง จ.กระบี่ ยอมรับว่า เกาะพีพี มีปัญหาขยะ แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากพื้นที่ต้องรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวบนเกาะพีพี แบ่งเป็นลักษณะที่มาพักเป็นประจำ และไปเช้าเย็นกลับ  ซึ่งแบบหลังจะสร้างปัญหาขยะให้เกาะพีพี โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ที่มีขยะมากถึงวันละ 20-30 ตัน ส่วนหน้ามรสุม จะพบขยะลอยเป็นแพตามกระแสน้ำ มีทั้งถุงพลาสติก และขวดพลาสติก โดย อบต.อ่าวนาง จ้างเอกชนจัดเก็บขยะครัวเรือน และสถานประกอบการ ทุกวัน เวลา 21.00-05.00 น.จากนั้นจะนำใส่เรือไปส่งให้เทศบาลเมืองกระบี่ฝังกลบ ใช้งบประมาณปีละ 10 ล้านบาท

นายประเสริฐ บอกว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยววันเดย์ทริป หรือแบบเช้าไป-เย็นกลับ เข้ามากินอาหารกลางวันที่เกาะพีพี แล้วกลับไปพักที่ จ.กระบี่ พังงา ภูเก็ต ถามว่าพีพีได้อะไร ก็ได้แค่เล็กๆน้อยๆ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร แต่ปัญหาขยะมาตกกับ อบต. การแยกขยะก็กระท่อนกระแท่น การบริหารจัดการอาจจะยังไม่ถูกต้อง หากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอนาคต อบต.ก็แบกรับไม่ไหว เพราะงบประมาณ สถานที่ บุคลากรไม่เพียงพอ

"เรามีค่าใช้จ่ายจัดการขยะถึงปีละ 10 ล้านบาท แต่เก็บเงินจากผู้ประกอบการบนเกาะ เพียงปีละ 2-3 ล้านบาท เป็นภาระหนักของ อบต.อ่าวนาง ที่ผ่านมาพยายามเสนอมาตรการรณรงค์ไม่ให้มีการผลิตถุงพลาสติก และสร้างจิตสำนึกให้กับคนในสังคม รวมทั้งจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว หรือผู้ประกอบการบนเกาะพีพี"

ชงเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก เชื่อลดใช้เกินครึ่ง

นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เร่งแก้ปัญหาขยะ โดยปีนี้กำหนดให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดปริมาณขยะให้ได้ร้อยละ 5 แต่ขยะก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ไทยเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเล อันดับ 6 ของโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สัตว์ทะเลตายจากการกินขยะ หรือถุงพลาสติก และปะการังได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะส่วนสำคัญคือต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

“ใช้เรื่องจิตสำนึกอาจลดใช้ถุงพลาสติกได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายด้วย” นายสากล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกรมส่งเสริมฯ เริ่มทำโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ใช้หลัก 3Rs คือ Reduce การลดปริมาณขยะ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ มีชุมชนตัวอย่างแล้ว 90 ชุมชน รวมทั้งขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า 16 แห่ง รณรงค์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการลดใช้ถุงพลาสติก 

นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก หรือให้ห้างสรรพสินค้าจำหน่ายถุงพลาสติกกับลูกค้าที่ต้องการใช้ แต่ยังต้องศึกษาเรื่องความเหมาะสมและผลกระทบต่อประชาชน พร้อมยกตัวอย่างหลายประเทศที่นำแนวทางดังกล่าวมาใช้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และยุโรป พบว่า สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้มากถึงร้อยละ 60

เอกชนรับลูกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ยังต้องรอสังคมพร้อม

นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า  ขณะนี้รณรงค์ให้ลูกค้า และประชาชนลดการใช้ถุงพลาสติกต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก 100 ล้านใบ ซึ่งได้นำถุงผ้าจากโครงการ “ปันเป๋า” 1,000 ใบ วางกระจายบริเวณร้านค้าบนเกาะพีพี เพื่อให้ประชาชนยืม-คืน สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันและรักษ์สิ่งแวดล้อม

ส่วนข้อเสนอการออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงรณรงค์ ก่อนเข้าสู่การบังคับใช้กฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับคนในสังคมว่าจะพร้อมเมื่อใด ทั้งนี้เชื่อว่าไทยจะออกกฎหมายได้ภายในกี่ปีข้างหน้า แต่น่าจะทำได้ง่ายยิ่งขึ้นในรัฐบาล คสช.

“ถุงพลาสติกเป็นปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วม หลังเกิดเรื่องแพขยะถุงพลาสติก พวกเราที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อน เราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน ที่อังกฤษมีการออกกฎหมายเพื่อชาร์จเงิน คนที่นั่นก็ตกใจ หงุดหงิดและด่ารัฐบาล แต่เขารณรงค์มาเป็นสิบๆ ปี ทำให้สามารถผ่านไปได้ด้วยดี แต่ประเทศไทยเริ่มไม่นาน เพราะมีเรื่องความเคยชิน เช่น ซื้อก๋วยเตี่ยวต้องได้เครื่องปรุง ซื้อน้ำต้องได้หลอด เราไม่สามารถเปลี่ยนให้ลูกค้าลดใช้ถุงพลาสติกแบบเยอะๆได้ ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นแผนระยะยาว” นายชาคริต กล่าว

 

ส่วนนายวุฒิศักดิ์ ทองเกิด ประธานกลุ่มพิทักษ์พีพี กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มได้ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ และมูลนิธิต่างๆ ดูแลเรื่องขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล เช่น ปะการัง ซึ่งขยะของเกาะพีพี และได้รณรงค์ให้ทุกคน เห็นถึงโทษของพลาสติกอย่างสม่ำเสมอ ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เพราะเฉลี่ยใช้ 2-3 ใบ หากทุกคนมีจิตสำนึกก็จะช่วยให้ปัญหาขยะลดลง

 

นายจิรศักดิ์ พุทธวรรณ กลุ่มพิทักษ์พีพี บอกว่า บริเวณท่าเรือจะมีขยะใต้น้ำมากที่สุด รองลงมาคือ อ่าวมาหยา ซึ่งขยะประเภทถุงพลาสติก หรือเศษอวนที่ขาด จะไปเกี่ยวปะการังจนเกิดความเสียหาย ขณะนี้ทางกลุ่มได้จัดทำวีดิทัศน์แนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมและข้อควรระวัง เพื่อให้ผู้ประกอบการเปิดบนเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ พร้อมขอความร่วมมือมัคคุเทศก์ ชี้แจงและห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวทิ้งขยะ หรือเก็บเปลือกหอย

ธุรกิจท่องเที่ยวโตเร็วกระทบการจัดการขยะ

"เกาะพีพี" มีผู้ประกอบการโรงแรม 79 แห่ง สถานประกอบการทัวร์ 15 แห่ง ร้านอาหารและภัตตาคาร 46 แห่ง ร้านดำน้ำ 6 แห่ง ร้านนวด 22 แห่ง ธนาคาร 3 แห่ง ตลาดสด 1 แห่ง พลาซ่า 1 แห่ง มินิมาร์ท 12 แห่ง โรงไฟฟ้า 1 แห่ง โรงพยาบาลและคลินิก 4 แห่ง ส่งผลให้การจัดการด้านมลพิษ ไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาขยะและน้ำเสีย รวมทั้งปริมาณขยะทะเลที่เพิ่มขึ้น

 

ข้อมูลจากกรีนพีซ พบว่า คนจะใช้พลาสติกมากถึง 300 ล้านตันต่อปี โดยมีพลาสติก 10 ล้านตัน ที่เล็ดลอดลงสู่ทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก ขณะที่ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีปริมาณขยะ 10 ล้านตัน และไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องมากถึง 5 ล้านตัน โดยแต่ละปีมีขยะพลาสติกลงทะเลมากถึง 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น เป็นถุงพลาสติกมากสุด ร้อยละ 13 รองลงมาเป็นหลอด ร้อยละ 10 ฝาครอบขวดและพลาสติกหุ้ม ร้อยละ 8

 

วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง