ปัญหาการบูรณะ "มัสยิด" 300 ปี

ไลฟ์สไตล์
15 มี.ค. 60
13:24
987
Logo Thai PBS
ปัญหาการบูรณะ  "มัสยิด" 300 ปี
ชมรมโต๊ะอิหม่ามจังหวัดนราธิวาส ยืนยัน ไม่โอนพื้นที่มัสยิด 300 ปี จังหวัดนราธิวาส ศอ.บต. เข้าทำโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และปรับภูมิทัศน์ ที่ต้องใช้งบกว่า 200ล้านบาท เพราะขาดการมีส่วนร่วม --เอกชนไม่มีความชำนาญในการบูรณะ

วันนี้(15 มี.ค.2560)ชมรมโต๊ะอิหม่าม จังหวัดนราธิวาส และผู้นำชุมชน ยังคงจับกลุ่มปรับทุกข์ แสดงความกังวลต่อการพัฒนาพื้นที่ของมัสยิด ในโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ ปรับภูมิทัศน์มัสยิด 300 ปี ซึ่งใช้งบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต กว่า 200 ล้านบาท

ซึ่งผู้นำศาสนา มองว่า ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนในชุมชน เพราะหลังศอ.บต รับ ปากให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเข้ามามีส่วนร่วม แต่เมื่อมีการจัดซื้อจัดจ้างจริง การแสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะของผู้นำศาสนาในประเด็นต่างๆ กลับไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ ผู้นำศาสนายังตั้งข้อสังเกตุว่าบริษัทเอกชนที่ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างจาก ศอ.บต ก็มีประสบการณ์ไม่มากนักในการบูรณะโบราณสถานที่เก่าแก่ และไม่เข้าใจอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ที่มีต่อมัสยิดแห่งนี้


มูฮัมมัด ซูลฮันลามะนา รองประธานชมรมอิหม่าม จ.นราธิวาส กล่าวว่า ช่วงออกแบบสถาปนิก มีความกังวลมาก เพราะทุกขั้นตอนต้องถามชาวบ้านก่อน ต้องมีการสเก็ตภาพ และถามว่าถ้าเราไม่ต่อสู้ในการออกแบบจะทำให้มีปัญหาในระหว่างดำเนินการ


ก่อนหน้านี้ ศอ.บต ชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่สามารถโอนงบประมาณมาให้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดนราธิวาสในการดำเนินโครงการนี้ เพราะได้หารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง โดยระบุว่า งบอุดหนุนเฉพาะกิจ มิสามารถโอนให้หน่วยงานอื่นได้ แต่ผู้นำศาสนาแย้งว่า ศอ.บต เคยทำหนังสือแจ้งกลับมายังชมรมโต๊ะอิหม่ามเองว่า ได้หารือกับสำนักงบประมาณแล้วว่าสามารถทำได้ จึงไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการตีความในการใช้งบประมาณส่วนนี้
ความไม่โปร่งใส่ในการจัดการของ ศอ.บต ทำให้กรรมการมัสยิด 300 ปีและคนในชุมชนยืนยันว่าจะไม่โอนพื้นที่ให้ ศอ.บต เข้ามาจัดทำโครงการ และขอให้ยุติไปจนกว่า ศอ.บต จะให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง



ขณะที่ตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 9 ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้นำศาสนาและได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ระบุว่า ป.ป.ท จะเข้ามาดูแลว่าโครงการนี้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือไม่ ใช้เงินคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ และจะนำเสนอข้อกังวลของประชาชนสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะเกิดขึ้นในสมัยที่ พันตำรวจเอกทวี สอดส่องเป็นเลขาธิการ ศอ.บต โดยศอ.บต.อนุมัติเงินอุดหนุนให้กับชมรมโต๊ะอิหม่าม จัดทำแบบก่อสร้าง ซึ่งในสมัยนั้น ศอ.บต ได้มีหนังสือยืนยันว่า จะให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด ก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน 4 ปี เพื่อดำเนินโครงการแต่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวของเลขาธิการ ศอ.บต ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ และเริ่มเกิดความขัดแย้งกับผู้นำศาสนา ที่ต้องการให้ระบุเนื้อหาในบันทึกข้อตกลงกับบริษัทผู้รับเหมา ที่จะต้องมีสถาปนิคผู้ควบคุมงาน ซึ่งมีความชำนาญด้านโบราณสถานและศาสนาอิสลาม แต่ทาง ศอ.บต เกรงว่าจะกระทบต่อกับการจัดจ้างบริษัทเอกชนที่ ศอ.บต.ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้นำศาสนาถอนตัวออกจากกรรมการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด และได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน



ทั้งนี้ มัสยิด 300 ปี มีความสำคัญอย่างมากต่อคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2167 มีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร 2 หลังติดกัน และถูกสร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้สลักไม้ยึดหลักแทนตะปู รูปทรงอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีน และมลายู ซึ่งปัจจุบันมัสยิดนี้ยังเป็นสถานประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมทั้งในและนอกพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง