อนาคต"พังโมตาลา" ในวันปิดตัวมูลนิธิเพื่อนช้าง

ภูมิภาค
15 มี.ค. 60
18:31
1,998
Logo Thai PBS
อนาคต"พังโมตาลา" ในวันปิดตัวมูลนิธิเพื่อนช้าง
มูลนิธิเพื่อนช้าง ระบุยอดเงินค่าใช้จ่ายการรักษาช้างป่วยติดลบกว่า 2.5 ล้านบาท ชี้ตลอด 25 ปี รักษาช้างไปแล้วมากกว่า 4,600 เชือก เฉลี่ยปีละกว่า 180 เชือก ค่าใช้จ่ายเฉพาะพังโมตาลา ที่ใส่ขาเทียม 15,000 บาท

25 ปีที่มูลนิธิเพื่อนช้างจังหวัดลำปาง ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาช้างฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แม้จะมีเงินบริจาคเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสูงถึงเดือนละ 1 ล้านบาท

พังโมตาลา ช้างพิการขาขาดจากการเหยียบกับระเบิด ประเทศเมียนมา ที่ได้รับการผ่าตัดและ ใส่ขาเทียม เป็นเชือกแรกของโลก คือหนึ่งในช้าง ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิเพื่อนช้าง มากว่า 18 ปี ซึ่ง มูลนิธิต้องแบกรับภาระ ค่าอาหาร ค่าดูแล และรักษาพยาบาลมากกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน

เอกสารของผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง ถึงระบุค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอต่อการบริหาร ประกอบกับ ปัญหาสุขภาพ ถูกส่ง ถึงคณะกรรมมูลนิธิ เพื่อพิจารณาให้ยุติบทบาทของมูลนิธิเพื่อนช้าง เนื่องจากเล็งเห็นว่า กำลังจะส่งผลกระทบต่อการจัดการมูลนิธิในอีกไม่กี่เดือนนี้

ในแต่ละปีที่โรงพยาบาลช้างหน่วยที่ 2 ของมูลนิธิเพื่อนช้าง จะมีช้างเข้ามารักษาที่นี่เฉลี่ย 186 เชือก ตลอด 25 ปี รักษาช้างไปแล้วมากกว่า 4,600 เชือก เช่น พังแก้ว มาจากปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) มีอาการอืดท้อง ช่วงเช้าก็มีการให้น้ำเกลือ เพื่อรักษา

นายสัตวแพทย์ปรีชา พวงคำ หนึ่งในทีมสัตวแพทย์ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้างเล่าว่า ตลอดเวลากว่า 25 ปี แม้จะต้องเหนื่อย และแทบไม่มีวันหยุด แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนต่างก็ภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและดูแลรักษาช้าง หลังทราบข่าวว่า มูลนิธิอาจต้องยุติบทบาทลง ก็รู้สึกใจหาย

ด้าน น.ส.โซไรดา ซาลาวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิไม่ได้ ประกอบการเป็นธุรกิจ แสวงหาผลประโยชน์ทำให้ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา รายรับที่ได้จากการบริจาค ไม่พอกับรายจ่าย ที่แต่ละเดือนต้องรับภาระมากกว่า 1 ล้านบาท โดยหากรวมเงินบริจาคในทุกบัญชีตอนนี้ มูลนิธิจะอยู่ได้อีกเพียง 12 เดือน


มูลนิธิเพื่อนช้าง ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยาว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ถือเป็นโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2536 เป็นสถานที่รองรับและรักษาช้างที่บาดเจ็บ ป่วย ชรา ท้อง และช้างพิการ โดยที่ผ่านมามีบทบาทในการผลักดันร่างกฎหมายช้าง ต่อสู้เพื่อหยุดยั้งช้างเร่ร่อน และขบวนการค้าช้าง ซึ่งดำเนินการมาจากเงินที่ได้รับจากบริจาค โดยปี 2559 เพียงปีเดียว รายจ่ายของมูลนิธิติดลบถึง 2,500,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง