ทส.ยังไม่สรุปให้ ทช.เพิกถอนป่าชายเลน จัดโซนนิ่งแรงงานต่างด้าว

สิ่งแวดล้อม
30 มี.ค. 60
12:09
318
Logo Thai PBS
ทส.ยังไม่สรุปให้ ทช.เพิกถอนป่าชายเลน จัดโซนนิ่งแรงงานต่างด้าว
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. ระบุยังไม่สั่งเพิกถอนที่ดินป่าชายเลน จ.ระนอง เพื่อจัดหาพื้นที่ให้แรงงานต่างด้าว ยืนยันต้องรอผลสรุปจากกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงมหาดไทย กำหนดรายละเอียดรูปแบบการจัดโซนนิ่งให้ชัดเจน

วันนี้ (30 มี.ค.2560) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงการจัดเขตที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว โดยมีการขอผ่อนผันใช้พื้นที่ป่าชายเลน 2 แห่ง คือ พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณหลังป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ซอยหลังโรงเจ ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง จำนวน 120 ไร่ และบริเวณบ้านปากคลอง หมู่ที่ 1 ซอยแพแหวนทอง ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง จำนวน 73 ไร่ และต้องให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพิกถอนพื้นที่ โดยระบุว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น

การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 50,000 คน ที่มีอยู่ประมาณ 13 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระนอง ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นนทบุรี นครปฐม ระยอง ภูเก็ต สงขลา และตาก ยังไม่มีการลงในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะการจัดที่พักอาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวก ว่าจะเป็นการนำแรงงานจำนวนมากมาอยู่รวมกันในที่แห่งเดียว หรือจะให้กระจายออกไปตามจุดต่างๆ หลายพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่สถานกักกันอย่างที่เข้าใจ

โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ต้องไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน สุดท้ายถ้าจำเป็นต้องใช้พื้นที่จริงๆ ค่อยมาดูเงื่อนไขของราชการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ล่าสุดยังไม่ได้รับหนังสือจากทาง จ.ระนอง เรื่องการขอใช้พื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมแต่อย่างใด ซึ่งพื้นที่ป่าชายเลนที่ จ.ระนอง เป็นป่าเสื่อมโทรมมานานกว่า 10 ปีแล้ว เป็นที่ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง และยังมีคดีค้างอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง

สำหรับนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดต่างๆ กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักสิทธิมนุษยชน  

ซึ่งจากการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติในช่วงที่ผ่านมาพบว่า การพักอาศัยร่วมกันเป็นชุมชนอย่างกระจัดกระจายของแรงงานเหล่านี้ ได้เกิดปัญหาขึ้นในหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านอาชญากรรมและยาเสพติด ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยจากโรคติดต่อต่างๆ ปัญหาขยะมูลฝอย และปัญหาที่พักอาศัยไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัย ฯลฯ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ระนอง สมุทรสาคร เป็นต้น

ด้าน น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า รายละเอียดต่างๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอ และหารือผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยังไม่เข้าสู่กระบวนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อผ่อนผันให้เข้าไปใช้พื้นที่ป่าชายเลนได้ โดยเฉพาะขั้นตอนขอเพิกถอนป่าชายเลน ต้องพิจารณาพื้นที่ก่อนว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหนบริเวณใด จากนั้นนำเสนอ ครม.เพื่อขอเพิกถอน เมื่อได้รับการผ่อนผันจะต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาการใช้พื้นที่ป่าชายเลน คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง