นายกฯ แจงวันเลือกตั้งขึ้นกับการยกร่างกฎหมายลูก

การเมือง
4 เม.ย. 60
19:24
225
Logo Thai PBS
นายกฯ แจงวันเลือกตั้งขึ้นกับการยกร่างกฎหมายลูก
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายเตรียมนัดประชุมปลัดกระทรวงวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.) เพื่อซักซ้อมการทำงานอีกรอบหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเผยโรดแมปการเลือกตั้งจะเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นกับการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (4 เม.ย.2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายนนี้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 6 เมษายน พร้อมย้ำว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเป็นไปตามโรดแมปเดิม แต่จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้นกับการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการ พร้อมไม่ขัดข้องหากสมาชิก สนช. และ สปท.หรือ ครม.จะลาออก เพื่อเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไข แต่ย้ำว่ารัฐบาลจะดูแลความสงบเรียบร้อย และขออย่ามองว่าเป็นการควบคุมและด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นัดประชุมปลัดกระทรวงในวันพรุ่งนี้ เพื่อซักซ้อมแนวทางการทำงาน หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ พร้อมเร่งผลักดันร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการการปฏิรูปประเทศ และร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน

นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว รองเลขาธิการ กกต.แถลงชี้แจงถึงการส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพื่อให้เตรียมพร้อมการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.350 คน ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า เป็นเพียงการเตรียมข้อมูล ซึ่งยึดจากกรมการปกครอง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 จำนวนกว่า 65.9 ล้านคน เบื้องต้น จะมีจังหวัดที่มี ส.ส.1 คน รวม 8 จังหวัด และมากกว่า 1 คน รวม 68 จังหวัด แต่หากกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน กกต.จะพิจารณาฐานข้อมูลอีกครั้ง

 

 

ไทม์ไลน์โรดแมปรัฐธรรมนูญ
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายนนี้ คงไม่มีคำถามใดมากไปกว่าการถามถึงวันเลือกตั้งทั่วไป และการได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ และจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่สถานการณ์การเมืองไทย จะยังคงมีนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจากข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้ และเปิดทางไว้ให้ด้วย แต่ถ้าถามถึงบรรยากาศทางการเมืองมีทั้งที่สนับสนุนและเตรียมค้านการกลับมาของ พล.อ. ประยุทธ์

แต่ถ้าต้องถามถึงใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 หรือไม่ วันนี้ สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลเขียนคำถามนี้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว แต่คำถามน่าจะถูกคัดออก เพื่อเลี่ยงที่จะตอบคำถามทางการเมืองด้วยมุมหนึ่งอาจจะคิดได้ว่าไกลเกินไปที่จะตอบ แต่อีกมุมหนึ่งเชื่อได้ว่ามีบางฝ่ายกำลังนับถอยหลัง ถึงการเปลี่ยนแปลงและเฝ้าจับตาถึงภาพการเมืองใหม่

นอกจากการแจ้งหมายกำหนดการงานพระราชพิธีและเจตจำนงว่าไม่ขัดข้องกับบุคคลที่เตรียมลาออกจากตำแหน่งไปลงสนามเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงการเดินหน้าตามโรดแมป คสช.สู่การเลือกตั้ง ที่จะเริ่มนับหนึ่งได้แล้ว แต่การเลือกตั้งจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการร่างกฎหมายลูก โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดการเลือกตั้ง และเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากกลไกต่างๆ ที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลผสม ยังพบว่ามีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเดินไปสู่โมเดลรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ โดยเฉพาะผลพวงจากการร่วมกันประกาศสัญญาประชาคม-เพื่อการเลือกตั้ง ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เขียนห้ามแม่น้ำ 4 สายของ คสช.ลงสมัครรับเลือกตั้ง หากแต่มีเงื่อนไขให้ลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือนับจากนี้ไป ต้องลาออกก่อน วันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ถึงจะมีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งที่จะมีขึ้นได้ เว้นแต่ กรธ.ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี นับแต่พ้นจากตำแหน่ง ด้วยประโยชน์แห่งการขจัดส่วนได้เสียไป

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นไม่ได้อยู่ว่าจะลงสนามรับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะตอบคำถามมาตลอดว่าไม่ได้คิดจะเล่นการเมือง แต่ประเด็นกลับอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เขียนปิดทางไว้ ด้วยเปิดให้รัฐสภาเสนอชื่อคนนอก เพื่อลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ภายใต้กรอบของสถานการณ์ ที่สภาผู้แทนราษฎร ไม่อาจเลือกนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองได้ นั่นจึงอาจหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ ได้

สถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้นี้ ทำให้คิดถึงถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ที่คล้ายจะสมัครใจ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ด้วยระบุว่า "มีคนดีมากกว่า..ผมเยอะแยะประเทศนี้..ไปดูก็แล้วกัน..ถ้าหาคนดีไม่ได้..ค่อยมาพูดกับผม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดไว้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559

แต่กว่าจะถึงวันนี้ ปฏิทินการเมืองต้องเดินหน้าไปตามกรอบที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย หากวันที่ 6 เมษายน 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จากนั้น กรธ.ต้องร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการจัดการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 240 วัน หรือ 8 เดือน ให้เสร็จก่อนวันที่ 6 ธันวาคม 2560 และรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การเลือกตั้ง เกิดขึ้นภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือนนับจากนั้น ดังนั้นการเลือกตั้ง จะต้องเกิดขึ้นก่อน วันที่ 6 พฤษภาคม 2561 คาดการณ์กันว่าหลังการเลือกตั้งอย่างน้อยๆ 4 เดือนสำหรับการพูดคุยจัดตั้งรัฐบาล-เลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น น่าจะได้เห็นโฉมหน้า ครม.ใหม่ หรือรัฐบาลใหม่ราวปลายปี หรือเดือนกันยายน 2561

กรอบปฏิทินทางการเมืองที่ว่านี้คิดขึ้นตามวันและเวลาที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากจะขยับไปจากนี้ น่าเป็นเพราะสถานการณ์ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้วางกรอบรองรับไว้ หรืออยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล-คสช.

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง