ก.ท่องเที่ยวฯ เตรียมออกมาตรการสกัดแชร์ลูกโซ่ท่องเที่ยว

เศรษฐกิจ
18 เม.ย. 60
19:00
270
Logo Thai PBS
ก.ท่องเที่ยวฯ เตรียมออกมาตรการสกัดแชร์ลูกโซ่ท่องเที่ยว
กระทรวงการท่องเที่ยวฯเตรียมออกกฎกระทรวงเพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่โฆษณาโปรแกรมการท่องเที่ยว รวมถึงให้รวบรวมราคาโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบริษัทเสี่ยงหลอกประชาชน

วันนี้ (18 เม.ย.2560) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมประชุมกับ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีป้องกันผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภท ที่มีแนวโน้มหลอกลวงประชาชน หรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การหารือครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมตรี เพื่อป้องกันบริษัทดำเนินธุรกิจหลอกลวงประชาชน เช่น กรณีบริษัท เวลท์เอฟเวอร์ โดยยอมรับว่ากระบวนการตรวจสอบบริษัทในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทของธุรกิจ เช่น กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่อนุญาตจัดตั้งจดทะเบียนนิติบุคคล แต่หากจะประกอบธุรกิจขายตรง หรือท่องเที่ยว ต้องขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและกรมการท่องเที่ยว

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงคดีของซินแสโชกุนว่า เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ปี 2527 ไม่ใช่การกระทำผิดตามกฎหมาย ธุรกิจนำเที่ยว และมังคุเทศก์ ปี 2551 แม้โฆษณาที่ปรากฏออกมา คล้ายโปรแกรมการท่องที่ยว แต่พยายามหลบเลี่ยงข้อความ ไม่ให้สุ่มเสี่ยงระวางโทษกฎมายธุรกิจนำเที่ยว จึงเตรียมออกกฎกระทรวงเพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาโปรแกรมการท่องเที่ยว จากปัจจุบันจำคุก 2 ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ พร้อมกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเปิดเผยหมายเลขใบอนุาตบนสื่อโฆษณาทุกประเภท และขอความร่วมมือเอกชน รวบรวมราคาโปรแกรมท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบกับศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวออนไลน์

ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการเตรียมล่ารายชื่อคัดค้านการเพิ่มวงเงินค้ำประกันการทำทัวร์เส้นทางต่างประเทศว่า จะปรับเพิ่มเงินประกันจาก 200,000 บาท เป็น 500,000 บาท เพื่อคัดกรองผู้ประกอบการ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันทัวร์หลอกลวง แต่พร้อมรับฟังความเห็นจากเอกชนวันที่ 25 เมษายนนี้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันทั้งข้อมูลบริษัท การประกอบธุรกิจ การเปลี่ยนชื่อ และการรวบรวมรายชื่อบริษัทที่มีความเสี่ยงหลอกลวงประชาชนเพื่อเฝ้าระวัง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการร้องเรียนสูง เช่น ธุรกิจขายตรงและท่องเที่ยว โดยขณะนี้พบว่าธุรกิจขายตรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอ ทำให้หลายคนต้องการหารายได้เพิ่มที่ได้ผลตอบแทนเร็ว ประชาชนจึงต้องตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากสนใจทำธุรกิจว่าได้รับการอนุญาตถูกต้องหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง