"ประกันสังคม” ใจป้ำเพิ่มสิทธิและขยายสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 40

สังคม
26 เม.ย. 60
11:52
14,625
Logo Thai PBS
"ประกันสังคม” ใจป้ำเพิ่มสิทธิและขยายสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 40
ข่าวดีแรงงานอิสระที่ไม่มีนายจ้าง ทั้งวินจักรยานยนต์ หาบเร่แผงลอยกว่า 20 กว่าล้านคน หลัง ครม.ไฟเขียว ร่างกฎ หมายลูกประกันสังคม เพิ่มสิทธิ และขยายสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มากขึ้น คาด 2 เดือนมีผลบังคับใช้-เปิดให้แรงงานยื่นสมัครทั่วประเทศ

วันนี้ (26 เม.ย.2560) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมครม. อนุมัติกฎหมาย เพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ แรง งานไม่มีนายจ้าง หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ ทดแทน และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นประกันตน


ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเป็นแรงงานในระบบมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะมีทางเลือกเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 มีการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเดือนละ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท รับสิทธิประโยชน์ พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ



ในส่วนของเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย จากเดิมที่เมื่อนอนโรงพยาบาลจะได้รับวันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี เพิ่มเป็น 300 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี ถ้าไม่นอนโรงพยาบาลแต่แพทย์สั่งให้หยุดงาน 3 วัน ได้รับเงินชดเชย วันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี และกรณีไปพบแพทย์จะได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี

สำหรับเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพยังให้สิทธิคงเดิม คือ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500-1,000 บาทเดือน เป็นเวลานาน 15 ปี เงื่อนไขต้องเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแพทย์ และกรณีเงินค่าทำศพเดิมได้รับ 2 หมื่นบาท สิทธิประโยชน์ใหม่นอกจากได้รับเงินทำศพ 20,000 บาท แล้วยังได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มอีก 3,000 บาท

ทางเลือกที่ 2 ปรับปรุงเป็นผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออมกรณีชราภาพ) ซึ่งจะได้รับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพคงได้รับเหมือนเดิม

 


คาดหลังปรับสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนสมัครเพิ่ม

 

พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า ตามกฎหมายใหม่นี้ได้เพิ่มทางเลือกที่ 3 ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ไม่เคยมีมาก่อน คือ ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ หรือเงินออมกรณีชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร

ด้านนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า คาดกฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้ได้ใน 2 เดือน ซึ่งหลังการปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นครั้งนี้คาดว่าจะจูงใจให้แรงงานนอกระบบสมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มากขึ้น โดยในปีแรกคาดว่าจะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคน ค่าใช้จ่ายภาครัฐอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท

สำหรับการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ประชาชนใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ข้อดีคือไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ตัดสิทธิบัตรทอง ขาดส่งเงินสมทบก็ยังเป็นสมาชิกต่อได้ และรัฐบาลร่วมออกเงินสมทบให้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง