เสรีภาพสื่อไทยตกฮวบ 6 อันดับ-เหตุถูกปิดกั้นจากรัฐบาล คสช.

สังคม
27 เม.ย. 60
10:39
1,110
Logo Thai PBS
เสรีภาพสื่อไทยตกฮวบ 6 อันดับ-เหตุถูกปิดกั้นจากรัฐบาล คสช.
เผยรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2560 ไทยติดอยู่ในอันดับที่ 142 จาก 180 ประเทศ ตกลงมา 6 อันดับจากอันดับ 139 สาเหตุจากการถูกปิดกั้นภายใต้การบริหารงานของ คสช. ด้าน “วิษณุ” เตือน พ.ร.บ.คุมสื่อฉบับใหม่ ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (27 เม.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม โดยจัดให้ไทยติดอยู่ในอันดับที่ 142 จาก 180 ประเทศ ร่วงลงมา 6 อันดับจากอันดับ 139 เมื่อปีก่อน

รายงานระบุว่า เสรีภาพสื่อไทยถูกปิดกั้นด้วยความสงบและเป็นระเบียบ ประเทศไทยปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผู้สื่อข่าวถูกจับตาตลอดเวลา บางครั้งมีการเรียกตัวไปสอบสวน และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารมีแนวโน้มการถูกตอบโต้โดยกฎหมายที่เข้มงวดและระบบยุติธรรมตามคำสั่ง คสช.

นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังทำให้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เข้มงวดมากขึ้นในปี 2559 เพิ่มอำนาจจับตาและตรวจสอบแก่เจ้าหน้าที่

สำหรับประเทศที่ทำการสำรวจจำนวน 180 ประเทศ ประเทศนอร์เวย์ครองแชมป์เสรีภาพสื่อ รองลงมาคือสวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ คอสตาริกา สวิตเซอร์แลนด์ จาไมกา เบลเยียม ไอซ์แลนด์

ส่วนในเอเชีย ไต้หวันทำผลงานได้ดีที่สุดอยู่ในอันดับ 45 รองลงมาคือเกาหลีใต้อันดับ 63 ญี่ปุ่นและฮ่องกงอยู่ในอันดับใกล้กันที่ 72 และ 73 ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซียมีคะแนนสูงสุดอยู่ในอันดับ 124 รองลงมาคือฟิลิปปินส์ 127 เมียนมา 131 ปรับดีขึ้นถึง 12 อันดับ และกัมพูชา 132 ส่วนประเทศที่สื่อมวลชน มีเสรีภาพน้อยที่สุดในบรรดา 180 ประเทศคือเกาหลีเหนือ เอริเทรีย เติร์กเมนิสถาน และซีเรีย


“วิษณุ” ชี้ พ.ร.บ.คุมสื่อฉบับใหม่ ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน กรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชนยืนยันว่า จะนำเข้าที่ประชุมใหญ่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้โดยยืนยันว่าจำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพและต้องมีการออกใบอนุญาต แม้จะถูกคัดค้านในหลายเด็น แต่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการ ก็ยืนยันว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ วิป สปท. บรรจุเข้าที่ประชุม สปท. ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมอย่างแน่นอน

โดยยืนยันว่าสื่อมวลชนมีความจำเป็นต้องมีสภาวิชาชีพสื่อ และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพราะสื่อมวลชนไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ การทำหน้าที่ของสื่ออาจกระทบในวงกว้างจึงต้องมีใบอนุญาต

สำหรับประเด็นบทลงโทษกรณีนักข่าวไม่มีใบอนุญาตตามเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท รวมถึงองค์กรสื่อที่รับนักข่าว ที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงานก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกไล่ออกไปทำงานอีก


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า กฎหมายที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจกระทบเสรีภาพในการทำงานของสื่อ ต้องรอให้ สปท.เสนอมา รัฐบาลจึงจะดูเนื้อหา ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะขัดกับมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญที่ห้ามลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชนนั้น หากพบว่ามีการขัดกันก็ใช้ไม่ได้

ส่วนเรื่องการขอและเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชน รองนายกรัฐมนตรีมองว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากไปดูมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ากฎหมายให้ออกเท่าที่จำเป็น การออกกฎหมายใดที่ต้องมีคณะกรรมการหรือต้องขออนุญาต ต้องทำเท่าที่จำเป็น ดังนั้น สปท.จะต้องแสดงความจำเป็นออกมาให้เห็นว่า เหตุใดต้องมีการตั้งกรรมการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง