ตำรวจจับผู้ต้องหารับโอนเงินจาก "รศ.สวัสดิ์ แสงบางปลา"

อาชญากรรม
28 เม.ย. 60
10:29
797
Logo Thai PBS
ตำรวจจับผู้ต้องหารับโอนเงินจาก "รศ.สวัสดิ์ แสงบางปลา"
ตำรวจจับผู้ต้องหาที่รับโอนเงินจากอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หลอกให้ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนจนเกิดความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท โดยเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงผู้เสียหาย แต่เป็นผู้รับโอนเงินเพื่อเล่นพนัน

เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.2560) ตำรวจกองบังคับการปราบปรามควบคุมตัว น.ส.เมธวัชร์ หรือ พชกร คนมั่น อายุ 32 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาโอนรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และกระทำผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า น.ส.เมธวัชร์ เป็นผู้ที่ได้รับการโอนเงินตั้งแต่ปี 2553-2559 เป็นเงินกว่า 62 ล้านบาท จาก รศ.สวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน ซึ่งได้หลอกลวงเพื่อนอาจารย์ และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้นำเงินไปร่วมลงทุนจนเกิดความเสียหายกว่า 443 ล้านบาท

จากการสอบสวน น.ส.เมธวัชร์ ให้การปฏิเสธ โดยระบุว่า เงินที่ รศ.สวัสดิ์ โอนมาให้ เป็นเงินที่ใช้ในการเล่นการพนันครั้งละประมาณ 1-2 แสนบาท โดยยอดเงินรวมทั้งหมดน่าจะประมาณ 20 ล้านบาท และไม่ได้สนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับผู้ต้องหา สำหรับการเล่นการพนัน ตนจะทำหน้าที่เป็นแค่คนกลางโอนเงินเล่นพนันให้ ยืนยันว่าได้โอนเงินไปหมดแล้ว ส่วนเว็บไซต์แทงพนันได้รับการแนะนำจากเพื่อนอีกทอดหนึ่ง

พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า นอกจากการจับกุมผู้รับโอนทรัพย์สินของ รองศาสตราจารย์สวัสดิ์ จะพิจารณาเรียกบุคคลที่น่าจะเกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่งมาสอบปากคำ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ว่าเป็นบุคคลใดบ้าง

ส่วนการติดตามจับกุมผู้ต้องหา จากข้อมูลการสืบสวนสอบสวนเชื่อว่ายังหลบหนีอยู่ในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ทราบพื้นที่ซึ่งมีการหลบซ่อนและใกล้จะถึงตัวผู้ต้องหาแล้ว ส่วนของการติดตามเงินกว่า 443 ล้านบาท ขณะนี้สามารถตรวจสอบและติดตามพบเส้นทางการเงินในจำนวนกว่า 60 ล้านบาทโดยจะประสานให้ ปปง. ยึดทรัพย์การกระทำความผิด และช่วยติดตามเส้นทางการเงินที่มีการหลอกลวงไปจากผู้เสียหาย ส่วนการประชุมแนวทางหารือมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ โดยมีผู้แทนจาก ปปง., สคบ. กรมบังคับคดี กรมสรรพากร และกรมเศรษฐกิจการคลัง

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประธานการประชุม เปิดเผยว่า สิ่งที่คณะกรรมการร่วมกันหารือ คือมาตรการเชิงรุกจะทำอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและไม่ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ ก่อนจะนำข้อสรุปเสนอปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อประชุมคณะกรรมการใหญ่อีกครั้ง สิ่งที่คาดว่าจะเร่งดำเนินการ คือการเปิดช่องทางให้ประชาชนตรวจสอบ และพยายามพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ประชาชนเข้าไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง เพราะหากปล่อยให้เกิดความเสียหายก็ยากที่จะติดตามเงินกลับมาคืนผู้เสียหายได้ทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง