กมธ.สื่อฯ สปท.ถอยใบอนุญาตวิชาชีพสื่อฯ-บทลงโทษ

การเมือง
30 เม.ย. 60
19:00
392
Logo Thai PBS
กมธ.สื่อฯ สปท.ถอยใบอนุญาตวิชาชีพสื่อฯ-บทลงโทษ
ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ระบุว่า จะเสนอต่อที่ประชุม สปท.ตัดเนื้อหาที่เกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อฯและบทลงโทษออกจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ แต่ยังคงยืนยันในหลักการให้ตัวแทนภาครัฐ 2 คน เข้าร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพ

วันนี้ (30 เม.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชน สปท.ระบุว่าจะเสนอต่อที่ประชุม สปท.วันพรุ่งนี้ ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ให้ตัดทิ้ง เนื้อหาเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อฯและบทลงโทษทางอาญา โดยให้สื่อมวลชนใช้ใบรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ที่สภาวิชาชีพฯแทน แต่ขอคงหลักการให้มี 2 ตัวแทนภาครัฐอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อฯ

ส่วนสาเหตุที่ยังยืนยันหลักการ 2 ตัวแทนภาครัฐในกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 15 คน เพราะมองว่า ภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องร่วมมือกันให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การทำงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และไม่เชื่อว่า จะเป็นการเปิดช่องให้มีการแทรกแซงสื่อ

วันนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ สปท.ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกจากวาระ เพื่อทบทวนเนื้อหาและหลักการสำคัญให้รอบคอบอีกครั้ง ขณะที่นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ในฐานะประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะมีหนังสือถึงประธาน สปท.ว่ามีการแอบอ้างชื่อประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับร่างกฎหมาย โดยกำหนดให้เป็น 1 ในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยไม่ได้มีการหารือและยินยอม และจะไม่เข้าร่วมแม้ร่างกฎหมายผ่านสภาฯ

แม้ล่าสุด พล.อ.อ.คณิต จะระบุ เตรียมตัดเนื้อหาเรื่องใบประกอบวิชาชีพสื่อฯ และบทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตแล้ว แต่อีกประเด็นหลักที่มีการคัดค้านมาตลอดคือสัดส่วนภาครัฐในกรรมการสภาวิชาชีพฯ ซึ่งตามร่างที่เสนอต่อที่ประชุม สปท.วันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) สภาวิชาชีพสื่อฯ จะมีหน้าที่ทั้งขึ้นทะเบียน ออก และเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ในฐานะกลไกสุดท้ายในการกำกับดูแลสื่อตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยกำหนดให้ต้องตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้แล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง