แรงงานไทย ชีวิตบนความเสี่ยง(แลก)ปากท้อง

สังคม
30 เม.ย. 60
22:00
2,302
Logo Thai PBS
แรงงานไทย ชีวิตบนความเสี่ยง(แลก)ปากท้อง
1 พ.ค.วันแรงงานแห่งชาติ ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์สำรวจปากท้องคนงานรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่ยังต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว โดยอยากให้รัฐปรับค่าแรงให้สมกับค่าเหนื่อยและความเสี่ยง

แม้จะเพิ่งผ่านอุบัติเหตุชิ้นส่วนอุปกรณ์ก่อสร้างคานเหล็ก หล่นทับร่างของแรงงานในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) เสียชีวิต 3 ราย

แต่จากการสำรวจของ "ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์" ในช่วงบ่ายของวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา แรงงานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ของบริษัทอิตาเลียนไทย หลายร้อยชีวิต ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองเหมือนทุกวันที่ผ่านมา

แม้ก่อนหน้านี้ จะมีฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ชายหนุ่ม 2 คนนี้เร่งมือเก็บชิ้นส่วนเศษถุงปุ๋ย ผ้าสเลนรองเศษชิ้นส่วนผงปูน และทรายใส่ขึ้นรถเครนขนาดเล็ก ส่วนอีกหลายคนยังขนเหล็กเส้นเก็บเข้าที่ ส่วนพวกที่ทำงานบนที่สูง ต่างเร่งมือ เพราะอีกไม่นานก็จะได้เวลาเลิกงานแล้ว

เกือบ 4 โมงเย็นของวันอาทิตย์ บริเวณจุดพักสถานีดอนเมือง แรงงานไทยทั้งชายและหญิง รวมทั้งหนุ่มเมียนมา จำนวนมากเริ่มมารวมตัวกัน เนื่องจากจะเป็นจุดที่หัวหน้าคนงาน จะต้องให้ทุกคนเซ็นชื่อก่อนกลับบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานเบิกเงินค่าจ้างรายวัน เราพยายามสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน แม้หลายคนปฏิเสธ แต่ก็ยังมีคนที่ยอมเปิดใจพูดคุย

 

"ยอมรับว่าลำบากมาก แต่ละวันก็เหนื่อยนะ มาเป็นคนงาน เป็นแรงงานในกรุงเทพ แต่ต้องทำเพื่อปากเพื่อท้องของตัวเอง และคนในครอบครัว"

ยุพิน ไพสิทธิแรงงานจาก จ.ศรีษะเกษ บอกกับเรา เธอทำงานมา 10 ปีกับบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลายแห่ง ภารกิจที่ต้องทำจึงมีทุกรูปแบบ ทั้งแบกปูน ขนอิฐ เหล็กเส้น ตามที่หัวหน้าคนงานจะให้ทำ โดยแต่ละวันจะเริ่มงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า จนถึง 6โมงเย็น บางวันจะทำงานล่วงเวลาเพิ่ม

 

 

เธอบอกว่า ชีวิตต้องอยู่ในแคมป์คนงานของบริษัท ทำงานย้ายไปเรื่อยๆตามที่บริษัทจะประมูลงานได้งานที่ไหน คราวละ 2-3 ปีได้ค่าแรงตั้งแต่วันละ 200 บาทจนมาถึงปีนี้ได้ค่าแรงรายวันๆละ 300 บาทตามกฎหมาย หากถามว่าพอหรือเปล่า ก็ยอมรับว่าไม่พอ แต่ลำพังคนความรู้น้อย คงไม่มีทางเลือกอื่น

" ถ้าขอได้ก็แต่อยากให้ขึ้นค่าแรงสมกับที่เราทำงานเหนื่อย เพราะเราทำงานเสี่ยงนะยอมรับว่ากังวล หลังเกิดอุบัติเหตุคนงานเสียชีวิต แม้ว่าจะมีการชี้แจงให้คนงานระมัดระวัง แต่ความเสี่ยงเรายังมีอยู่ มีภาระครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ"

แต่กระนั้นยุพิน บอกอย่างภูมิใจว่าในฐานะคนเล็กๆที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ทำให้เกิดการพัฒนาต่อประเทศชาติ มองเห็นโครงการเดินหน้าไปทุกวันก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญ


ขอสวัสดิการพยาบาลเพิ่ม-ค่าแรงขึ้น

เช่นเดียวกับ เสริฐ ใจปิง หนุ่มใหญ่จาก อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ตำแหน่งช่างไฟฟ้า ของบริษัทอิตาเลียนไทย เขายอมรับว่าทำงานมานาน 10 ปีแล้ว เริ่มแรกตั้งแต่ก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส จนมาถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่ยังไม่มีเงินเก็บ ด้วยภาระค่าครองชีพที่ต้องหากินเลี้ยงปากท้องตัวเอง และลูกๆอีก 3 คนตามลำพัง

"ผมจะได้กลับบ้านแค่เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์แค่นั้น เพราะถ้าเราหยุดก็หมายถึงเงินรายวันเราก็จะหายไปด้วย ผมมีภาระต้องส่งเงินไปเลี้ยงดูลูก3 คนที่ต่างจังหวัด ทุกวันนี้ยอมรับว่าค่าครองชีพในกรุงเทพ มันสูง บางเดือนไม่พอใช้ ขนาดบริษัทมีที่พักฟรี น้ำฟรี มีไฟฟ้าให้ใช้แต่จ่ายครึ่งนึง เดือนละ 100 กว่าบาท แต่ค่ากินแต่ละมื้อ ข้าวจานละ40 บาทกับค่าแรง 300 บาทก็ไม่พอ" เสริฐ บอกถึงปัญหา

 

 

เขาบอกว่า สวัสดิการของบริษัทที่ดูแลคนงาน ทั้งที่พัก ค่าไฟและรถบริการรับส่งดีหมด ส่วนเงินเดือนจะออกทุก 15 วันคิดเป็นรายวันที่ทำงาน รวมกันแล้วเกือบยังไม่ถึงหมื่นบาท ทำงานวันละ 8-12 ชั่วโมงแล้วแต่หน้างาน หรือวันไหนจะให้มีเร่งงาน โดยทุกวันอาทิตย์จะได้เลิกงานในเวลา 4โมงเย็น และได้ค่าแรง 2 เท่า

" วันแรงงาน ถ้าขอได้ให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้น และอยากให้เพิ่มสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า เพราะไม่ค่อยได้รับบริการที่ดีสำหรับคนงาน " นอกจากนี้ เขายอมรับว่าถ้าไม่ได้ทำอาชีพนี้ ถ้ากลับไปบ้านก็ไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ถ้าอยู่กรุงเทพ มีงานทำยังพออยู่ได้ แม้บางเดือนจะไม่พอใช้ เพราะมีรายจ่ายและต้องดูแลครอบครัวก็ตาม

 

 

ก่อนกลับเราเห็นหนุ่ม 2 คนเดินหิ้วปิ่นโตข้าวเดินผ่านมาเมื่อเข้าไปทักทายจึงรู้ว่าเขาเป็นคนงานเมียนมา พวกเขาบอกว่ามาอยู่เมืองไทยได้ค่าแรงวันละ 300 บาทพร้อมกับชูนิ้วแทนคำตอบ

วันแรงงานแห่งชาติปีนี้ ภาครัฐจะมีของขวัญในการขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 5-10 บาทรวมเป็น 305-310 บาท และเริ่มวางสวัสดิการให้กับแรงงานอิสระ เพื่อให้เข้าถึงการบริการทางด้านสุขภาพ แต่พวกเขายังคงมีชีวิตบนความเสี่ยง เพื่อแลกกับปากท้อง..

จันทร์จิรา พงษ์ราย/ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง