สธ.สรุปชัด "น้ำบ่อสีดำศักดิ์สิทธิ์" ที่แท้ “น้ำเสีย”

สังคม
4 พ.ค. 60
15:47
1,397
Logo Thai PBS
สธ.สรุปชัด "น้ำบ่อสีดำศักดิ์สิทธิ์" ที่แท้ “น้ำเสีย”
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจวิเคราะห์น้ำในบ่อน้ำสีดำที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เข้าข่าย เป็น“น้ำเสีย” ที่ต้องผ่านการบำบัด ไม่แนะนำให้ดื่ม หรือใช้น้ำ เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอาจทำให้เกิดโรคได้ พบสารเหล็กสูง 43 เท่าจากค่ามาตรฐาน

วันนี้ (4พ.ค.2560) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หลังจาก เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำบ่อสีดำ ในสวนยางพารา อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ที่ชาวบ้านนำมาดื่มและชำระร่างกายเพราะเชื่อว่ารักษาโรคได้ โดยเก็บตัวอย่างวันที่ วิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่ม และตรวจสอบตะกอนสีดำที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เมื่อวันที่ 19 และ 24 เม.ย.นี้

ผลการทดสอบคุณภาพน้ำสีดำ ตามมาตรฐานน้ำบริโภค พบว่าไม่ได้มาตรฐานทางด้านเคมีและจุลชีววิทยา โดยเฉพาะปริมาณสารฟลูออไรด์ และเหล็กสูงกว่าเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานน้ำดื่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2524) ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) และ (ฉบับที่ 6)(พ.ศ. 2553) โดยเฉพาะฟลูออไรด์ และเหล็กสูงกว่าเกณฑ์ถึง 14 และ 43 เท่า ซึ่งฟลูออไรด์อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระดูก ทำให้เป็นโรคฟันตกกระฟันลาย การทำ งานของไตและต่อมไร้ท่อผิดปกติ ส่วนเหล็กถึงแม้ไม่มีผลต่อสุขภาพมากนัก แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจจะสะสมในตับทำให้เกิดโรคได้

 


นอกจากนี้ยังไม่ได้มาตรฐานทางด้านจุลชีววิทยา เนื่องจากพบเชื้อโคลิฟอร์ม มากกว่า 23 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร เกินเกณฑ์กำหนด และพบอีโคไลน์ และสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส   เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร ท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ


สำหรับตะกอนสีดำ เป็นสารกลุ่มซัลไฟด์ ตรวจพบในปริมาณ 4.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งคุณภาพน้ำบริโภคจะต้องไม่มีสารนี้อยู่เลย ดังนั้นจึงนำไปเทียบกับมาตรฐานน้ำทิ้งพบว่าเกินมาตรฐานถึง 4.8 เท่า อย่างไรก็ตาม จากผลการทดสอบนี้ชี้ให้เห็นว่าตัวอย่างน้ำจากบ่อน้ำสีดำไม่ได้มาตรฐาน โดยพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ และพบซัลไฟด์เกินมาตรฐานน้ำทิ้ง จึงจัดเป็นน้ำเสียที่ต้องผ่านการบำบัด หรือปรับปรุงคุณภาพน้ำตามมาตรฐานก่อนนำมาใช้ ประชาชนไม่ควรดื่มหรือใช้น้ำบ่อสีดำเพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดโรคได้

ส่วนชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพราะจากน้ำสีดำและใสได้ แท้จริงเป็นปฏิกิริยาทางเคมี ถ้ามีอากาศน้อยหรืออกซิเจนต่ำจะทำให้น้ำเป็นสีดำเพราะมีตะกอนของสารประกอบเหล็กกับซัลไฟด์ แต่ถ้ามีอากาศหรือออกซิเจนสูงจะเกิดการสลายตัวเป็นซัลเฟอร์ และซัลเฟต ตะกอนสีดำจะหายไป น้ำจึงใสขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง